RSS

Tag Archives: เอตทัคคะ

พระโสณโกฬิวิสเถระ – พระเอตทัคคะผู้เลิศด้านความเพียร

ทางจงกรม บ้านจิตสบาย ถนนพุทธมณฑลสาย 2

พระโสณโกฬิวิสเถระ เป็นหนึ่งในพระเอตทัคคะที่ผมประทับใจมากครับ ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นเอตทัคคะในทาง”ผู้ปรารภความเพียร”

ลองมาอ่านประวัติท่านแบบย่อๆกันดูนะครับ

………………………………………………………………………

ก่อนจะเข้าประวัติท่าน เพื่อให้ได้อรรถรส ผมขอเล่าเรื่อง “เนสัชชิก” ก่อน โดย เนสัชชิกนั้นเป็น 1 ในธุดงค์วัตร 13 ข้อครับ

ธุดงค์ ไม่ได้แปลว่าเดินนะ แต่แปลว่า หลักปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความสันโดษ มักน้อย นั่นเอง  ธุดงค์นี้ไม่ได้เป็นข้อบังคับ พระสามารถเลือกปฏิบัติได้ในข้อที่ตนเองสนใจครับ

ส่วนเนสัชชิก เรียกเต็มๆว่า เนสัชชิกังคะ คือการอยู่แต่อิริยาบท นั่ง ยืน เดิน อย่างเดียวไม่มีอิริยาบท นอน!

………………………………………………………………………

อดีตชาติ

สมัยพระพุทธเจ้าอโนมัสสี … ท่านเป็นเศรษฐี ได้ให้คนตกแต่งที่เดินจงกรมของพระพุทธเจ้าด้วยปูนขาว โรยดอกไม้ ทั้งยังสร้างศาลายาว มอบถวายแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย และ ในชาตินี้เอง เป็นชาติแรกที่ท่านได้รับการทำนายว่าต่อไปจะได้เป็น เอตทัคคะด้านความเพียร

สมัยพระพุทธเจ้าวิปัสสี ... ท่านได้ฉาบทาปูนขาวสถานที่จงกรมของพระพุทธเจ้า และยังได้สร้างถ้ำ(วิหาร) ถวายพระภิกษุ และ บริจาคผ้าหลายผืนปูลาดพื้นถ้ำ

สมัยพระปัจเจกพุทธเจ้า (ช่วงเวลาระหว่างพระพุทธเจ้ากัสสปะกับพระพุทธเจ้าโคดม) …. ท่านได้ สร้างศาลาที่พัก ที่จงกรม ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า พร้อมทั้งเอาผ้ากัมพลแดงมูลค่าพันหนึ่ง ปูพื้น … ท่านได้เห็นรัศมีกายของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วเกิดเลื่อมใส เลยอธิษฐานข้อให้มือเท้าท้านมีสีดังดอกหงอนไก่ และ สัมผัสที่กระทบกายของให้เป็นดั่งสัมผัสผ้าผ้ายละเอียด

ชาติสุดท้าย เกิดเป็นบุตรเศรษฐี

ท่านได้เกิดเป็นลูกเศรษฐี มีนามว่า “โสณะ” (โสณกุมาร) ในเมืองกาลจัมปากะ ซึ่งเป็นเมืองในอาณัติของแคว้นมคธ ท่านได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีประนึ่งเทพกุมาร เมื่อเติบใหญ่บิดาได้สร้างปราสาท 3 ฤดูให้อาศัย

ลักษณะพิเศษ มีขนละเอียดอ่อนงอกยาวที่ฝ่าเท้า

มือเท้าของท่านมีสีดุจดั่งดอกหงอนไก่ และ ที่ฝ่าเท้าท่านก็มีขนอันละเอียดยาวประมาณ 4 นิ้วงอกยาวออกมา ซึ่งลักษณะพิเศษนี้ ทำให้เวลาท่านเดิน ท่านจะรู้สึกสัมผัสอันอ่อนนุ่ม เหมือนกับเดินบนพื้นที่ปูด้วยผ้าชั้นดี ตลอดเวลา!

ลักษณะพิเศษนี้เป็นที่เลื่องลือ จนกระทั่ง พระเจ้าพิมพิสาร เรียกตัวไปเข้าเฝ้าเพื่อทอดพระเนตร

ดอกหงอนไก่

พบพระพุทธเจ้า

เมื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร ให้ทอดพระเนตรฝ่าเท้าแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้พาประชาชนทั้งหมดที่มาประชุมกันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ายอดภูเขาคิชฌกูฏ

ขณะนั้น พระสาคตะ เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก เมื่อท่านได้เห็นพระเจ้าพิมพิสารพาประชาชนมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็ได้แสดงฤทธิ์ดำดิน ไปโผล่หน้าพระคันธกุฎีบนยอดภูเขาคิชฌกูฏนั้น คนทั้งหลายพากันเกิดศรัทธา คิดว่า “พระพุทธสาวก ยังมีความสามารถึงเพียงนี้ พระบรมศาสดาจะต้องมีความสามารถมากกว่านี้อย่างแน่นอน”

ท่านได้ฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใสอย่างสูง จึงได้ออกบวช หลังจากบวชไม่นาน ท่านก็แยกตัวออกไปพักอยู่ที่ป่าสีตวันซึ่งเป็นป่าช้า

ปฏิบัติธรรม ตั้งใจจะ ยืนและจงกรม จนกว่าจะบรรลุธรรม (ไม่นั่งไม่นอน!)

หลังจากท่านอยู่ป่าช้าแล้ว ท่านตั้งใจอธิษฐานว่า จะยืนและจงกรมจนกว่าจะบรรลุธรรม (หมายเหตุ: จำเนสัชชิกได้มั้ยครับ เนสัชชิกนั้นไม่เอาอิริยาบทนอน แต่ท่านโสณะตั้งใจจะไม่เอาทั้ง นั่งและนอนเลย จนกว่าจะบรรลุธรรม!)

ท่านเดินจงกรมจนเท้าแตก เมื่อเดินด้วยเท้าไม่ได้ท่านก็จงกรมด้วยเข่า จนเข่าแตก ท่านก็จงกรมด้วยมือ จนมือแตก เลือดไหลอาบไปทั่ว

ทางจงกรมของท่านนั้นแดงฉานไปด้วยเลือด เลือดนั้นแดงดุจดั่งโรงฆ่าวัว!

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านก็ยังไม่บรรลุธรรม ท่านเกิดท้อใจอยากจะสึก

พระพุทธเจ้ามาสอน อุปมาด้วยพิณ 3 สาย

พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของท่านพระโสณะ จึงมายังสถานจงกรมแล้วถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้เป็นของใคร มีเลือดเปื้อนเหมือนโรงฆ่าโค?”

ภิกษุตอบว่า “ท่านพระโสณะปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนเท้าทั้งสองแตก จึงมีเลือดเปรอะเปื้อนที่จงกรม พระพุทธเจ้าข้า”

จากนั้นพระพุทธเจ้าได้สอนพระโสณะ โดยเปรียบเปรยมีใจความว่า “สายพิณที่ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก ตั้งอยู่ในความพอดี คราวนั้นพิณจะมีเสียงไพเราะ” และ ทรงได้สอนว่า

“ดูก่อนโสณะ เหมือนกันนั่นแล ความเพียรที่ปรารภมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนนัก ก็เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งความเพียรแต่พอดี เธอจงรู้ความที่อินทรีย์ทั้งหลาย (5 อย่างคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา) เสมอกัน และ จงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น”

จากนั้นมา พระโสณะท่านก็ตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ และก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา

ถึงความเป็นเอตทัคคะ

สมัยหนึ่งต่อมา พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ในวิหารเชตวัน ท่านได้ตรัสยกย่องว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พระโสณโกฬิวิสะเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้ปรารถความเพียร”

อรรถกถาได้อธิบายเพิ่มเติ่มว่า ความเพียรของภิกษุอื่นมีแต่จะต้องทำให้มีขึ้น เจริญขึ้น แต่ความเพียรของพระโสณะนี้กลับต้องทำให้เพลาลง

เพราะพระโสณะ พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้พระใช้ร้องเท้าได้

หลังจากบรรลุอรหันต์แล้ว พระโสณะได้ไปยังสำนักที่พักของพระพุทธเจ้า ท่านได้แสดงธรรมะ (ขอไม่เล่านะครับ ยาวมาก) หลังจากท่านแสดงจบแล้วพระพุทธเจ้าได้กล่าวรับรอง พร้อมทั้งตรัสอนุญาตว่า

“ดูก่อนโสณะ เธอเป็นสุขุมาลชาติ เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียวแก่เธอ”

พระโสณะได้กราบทูลตอบเป็นใจความว่า “ข้าพระองค์ได้สละสมบัติมากมายออกบวช แต่คนอาจจะมานินทาว่า ข้าพระองค์ยังติดข้องอยู่กับรองเท้า ถ้าพระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาต ขอให้ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายได้ใช้ด้วย ถ้าไม่ทรงอนุญาต ข้าพระองค์ก็จะไม่ใช้”

พระพุทธเจ้าจึงได้มีอนุญาต ออกมาเป็นพระวินัยว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้า 2 ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า 3 ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

………………………………………………………………………

อ้างอิงครับ: หนังสือ 80 พระอรหันต์ฉบับสมบูรณ์ (สนพ ธรรมสภา) และ http://84000.org/one/1/30.html

 
2 Comments

Posted by on July 18, 2012 in ธรรมะ

 

Tags: , , ,

พระอัญญาโกณฑัญญะ หายไปไหนหลังจากบรรลุอรหันต์?

เราทุกคนต่างรู้จักพระอัญญาโกณฑัญญะ โดยทราบว่าท่านเป็นภิกษุรูปแรก และ ผู้แรกที่บรรลุธรรม แต่ว่าเราไม่ค่อยทราบกันเลยว่าท่านหายไปไหนหลังจากบรรลุอรหันต์แล้ว

เราลองมาอ่านประวัติของท่านกันครับ

***************************************

อดีตชาติ

ในอดีตกาลสมัยพระพุทธเจ้านาม “ปทุมุตตระ” พระอัญญาโกณฑัญญะได้เกิดเป็นบุตรชายเศรษฐี  วันหนึ่งท่านได้เห็นพระพุทธเจ้าสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งว่า เป็นเลิศด้าน “บรรลุธรรมก่อนใครๆในพระศาสนา”

ท่านคิดว่า “ภิกษุนี้ยิ่งใหญ่มาก เพราะถ้าไม่นับพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่มีใครจะบรรลุธรรมก่อนภิกษุนี้เลย ถ้าตัวเราจะสามารถบรรลุธรรมก่อนใครๆ ในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ใดในอนาคตก็จะเป็นการดีหนอ” เขาคิดได้แล้วจึงกราบทูลพระพุทธเจ้าขอถวายทาน ๗ วันติดต่อกัน และ เอ่ยวาจาตั้งความปรารถนาว่าจะเป็น ภิกษุผู้บรรลุธรรมก่อนใครๆในอนาคต

พระพุทธเจ้าปทุมุตตระได้สดับแล้ว ตรัสว่า ความปรารถนาของเขาจะเป็นจริงในอนาคตกาล ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า “โคตมะ”

***************************************

ชาติสุดท้าย

ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ประจำศากยวงศ์ นามว่า “โกณฑัญญะ” ท่านได้รับเลือกเป็นพราหมณ์ทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งท่านเป็นเพียงผู้เดียวที่ทายว่าต่อไปเจ้าชายจะได้เป็นพระพุทธเจ้า

จากนั้นท่านก็ได้ลาออกจากราชสำนักและไปบวชเป็นฤาษี ต่อมาเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ออกบวช ท่านก็ได้ออกบวชตามพร้อมพวกอีก ๔ คน (เรียกว่า ปัญจวัคคีย์ – พวก๕) คอยติดตามปรนนิบัติพระโพธิสัตว์ แต่ภายหลังก็ได้ทิ้งไปเพราะคิดว่าพระองค์ละความเพียรแล้ว จนพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ได้กลับมาเทศน์สอนปัญจวัคคีย์เป็นพวกแรก และ พระโกณฑัญญะนี้เองก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นบุคคลแรกที่มีดวงตาเห็นธรรม

ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “อญฺญา สิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ โกณฑัญญะรู้ทั่วแล้วหนอ” ซึ่งทำให้ท่านได้รับชื่อนำหน้าว่า “อัญญา (รู้)” ตั้งแต่นั้นมา

***************************************

ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ และ มีที่นั่งพิเศษ 

ต่อมาขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวัน ท่านได้ยกย่องพระอัญญาโกณฑัญญะว่า “เป็นเลิศ (เอตทัคคะ) ด้านผู้รู้ราตรีนาน (รัตตัญญู)” คือ เป็นเลิศกว่าผู้อื่นด้านบรรลุธรรมก่อนใครๆ

เนื่องจากท่านบวชเป็นคนแรกท่านจึงมีพรรษาสูงที่สุด ภิกษุทุกรูปจึงต้องทำความเคารพ ที่นั่งของท่านนั้นก็พิเศษว่าภิกษุอื่น คือได้นั่งใกล้พระพุทธเจ้า โดยที่เวลาพระพุทธประทับ พระอัครสาวกจะนั่งเบื้องซ้าย-ขวา และ ข้างหลังอัครสาวกจะเป็นที่นั่งพิเศษเฉพาะของท่าน

***************************************

ทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ป่า

ท่านอัญญาโกณฑัญญะมีความเห็นว่า การที่ท่านมีพรรษาสูงสุดนั้นได้สร้างความลำบากให้กับหมู่คณะ คือ ทุกๆคนต้องทำความเคารพท่าน ไม่เว้นแม้แต่อัครสาวก อีกทั้งท่านมีความยินดีในความวิเวก ไม่ปรารถนาอยู่ใกล้บ้านผู้คน ท่านจึงได้กราบทูลลาพระพุทธเจ้าไปจำพรรษายัง “ริมสระมันทากินี”

ท่านได้อยู่ที่ริมสระมันทากินีนี้ถึง ๑๒ ปี  ในป่านี้เป็นที่อยู่ของช้างตระกูล”ฉัททันต์” ๘,๐๐๐ เชือก ในกาลก่อนช้างฝูงนี้เคยปรนนิบัติพระปัจเจกพุทธเจ้า ทำให้ช้างนี้มีความสามารถในการดูแลพระสงฆ์

เมื่อช้างเห็นพระอัญญาโกณฑัญญะเดินทางมา ก็ดีใจที่จะได้ปรนนิบัติพระอีกครั้ง จึงพากันปัดกวาดเช็ดถูที่พัก ทำความสะอาดทางเดินจงกรม เสร็จแล้วพวกช้างก็ประชุมแบ่งเวรความรับผิดชอบ จัดลำดับว่าใครจะต้องเตรียมน้ำบ้วนปากและไม้สีฟัน เป็นต้น

สระนี้กว้าง ๕๐ โยชน์ น้ำใสเหมือนผลึกไม่มีสาหร่ายจอกแหน ในสระนั้นมีดอกบัวขาว ถัดจากบัวขาวเป็นดอกบัวแดง โกมุทแดง โกมุทขาว บัวเขียวเป็นต้น รอบๆสระมีดงข้าวสาลี มีไม้เถาเช่น ฟักทอง น้ำเต้า และ ฟัก นอกจากนั้นยังมีดงอ้อย ดงกล้วย ดงขนุน ป่าชมพู่ และ ดงมะขวิด

กล่าวโดยย่อคือ ผลไม้ที่ชื่อว่ากินไม่ได้นั้น ไม่มี

เวลาดอกไม้บาน ลมจะพัดเอาเกสรไปรวมกับหยาดน้ำบนใบบัว เมื่อตะวันขึ้น หยดน้ำก็จะถูกแสงอาทิตย์เผาจนกลายเป็นก้อนเหมือนน้ำตาลเคี่ยว และช้างก็นำก้อนน้ำตาลนี้มาถวายพระเถระ

แม้แต่รากบัว กับ เหงาบัวนั้น ช้างก็นำมาถวาย ส่วนเมล็ดบัวนั้น ช้างก็ได้ปรุงเมล็ดบัวเข้ากับน้ำตาลถวาย ช้างยังได้นำอ้อยวางบนแผ่นหินแล้วใช้เท้าเหยียบจนน้ำหวานไหลออกมาขังเต็มแอ่ง น้ำอ้อยนี้โดนตากแดดจนแห้งกลายเป็นดั่งนมก้อน ซึ่งนมก้อนนี้ช้างก็นำมาถวาย แม้แต่ผลไม้ต่างๆในป่าเช่น ขนุน กล้วย มะม่วง ช้างก็นำมาถวาย 

***************************************

ทราบว่าสิ้นอายุขัย กลับไปทูลลาพระพุทธเจ้า

เช้าวันหนึ่งท่านได้ตรวจและทราบว่า อายุขัยท่านกำลังจะหมดลงแล้ว ท่านจึงคิดว่า “เราควรนิพพานที่ไหนหนอ … ก็ช้างนี้ได้ดูแลเราถึง ๑๒ ปี เราควรไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อขอนิพพานที่ใกล้ๆช้างนี้”

ว่าแล้วท่านก็เหาะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระวิหารเวฬุวัน ด้วยความที่ท่านไม่ได้พบพระพุทธเจ้าเป็นเวลานาน ท่านจึงได้หมอบลงแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า เอาศีรษะแนบกับพระบาท จูบพระบาททั้งสองด้วยปาก นวดเฟ้นด้วยมือทั้งสอง พร้อมทั้งประกาศนามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ชื่อโกณฑัญญะ”

เหตุที่ท่านต้องประกาศนามนั้น เพราะท่านจากไปนาน คนทั้งหลายจำท่านไม่ได้ คนบางจำพวกที่ไม่รู้จัก อาจจะคิดไม่ดีว่าพระแก่นี้เป็นใครกัน ซึ่งจะเป็นบาปแก่คนเหล่านั้น ท่านจึงต้องประกาศนามให้ผู้คนเลื่อมใส จะเป็นเหมือนการปิดทางอบาย และ เปิดทางสุคติให้แก่คนทั้งหลายนั้นเอง

ว่าแล้วท่านก็ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อายุสังขารของข้าพระองค์สิ้นแล้ว ข้าพระองค์จักนิพพาน”

ตรัสถามว่า “โกณฑัญญะ ท่านจะนิพพานที่ไหน”

กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างทั้งหลายที่เป็นอุปฐากของข้าพระองค์นั้น ได้ทำกิจที่ทำได้ยาก ข้าพระองค์จะนิพพานใกล้ๆช้างเหล่านั้น”

พระศาสดาทรงอนุญาต (ด้วยการนิ่ง ไม่ตรัสอนุญาต หรือ ห้าม) และพระเถระก็ได้ทำประทักษิณและกราบทูลว่า …

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การเห้นครั้งนั้นเป็นการเห็นครั้งแรกของข้าพระองค์ การเห็นครั้งนี้ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย”

ฝูงชนพากันร่ำไห้คร่ำครวญ พระเถระถวายบังคมและได้จากไปยังริมสระน้ำมันทากินี โดยก่อนจาก ท่านได้ให้โอวาทว่า

“ท่านทั้งหลาย อย่าเศร้าโศกเลย อย่าคร่ำครวญเลย จะเป็นพระพุทธเจ้าหรือพุทธสาวก สังขารที่เกิดขึ้นแล้ว ที่จะไม่แตกทำลายนั้นไม่มี”

*************************************** 

หมู่ช้างจัดพิธีศพให้อย่างยิ่งใหญ่ 

เมื่อถึงที่ริมสระ ท่านเข้าไปยังที่พัก นั่งเข้าผลสมาบัติตลอด ๓ ยาม ออกจากสมาบัติในเวลาใกล้สว่าง และ นิพพาน

ช้างที่เฝ้าเวรอยู่ด้านหน้าไม่รู้ว่าท่านได้นิพพานแล้ว แต่ก็ยังคงเตรียมน้ำบ้วนปาก ไม้สีฟัน และ ผลไม้ รออยู่ที่ท้ายทางจงกรม แต่ว่าไม่เห็นพระเถระออกมาจากที่พักจึงเดินเข้าไปดู ช้างเขย่าประตูและมองดูก็เห็นว่าท่านกำลังนั่งอยู่ ช้างลองเอางวงเหยียดออกไปลูบคลำดูก็พบว่าท่านไม่หายใจแล้ว

บัดนั้นเอง ช้างก็เอางวงสอดเข้าไปในปากส่งเสียงร้องเสียใจดังลั่นป่า ช้างอื่นๆทั้ง ๘,๐๐๐ เชือก ต่างก็ส่งเสียงร้องเสียใจพร้อมๆกัน

ช้างทั้งหลาย ได้ยกร่างพระเถระขึ้นไว้บนกระพองของหัวหน้าโขลง ต่างเอางวงถือกิ่งไม้ที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง แห่ร่างของพระเถระไปทั่วทั้งป่าหิมวันต์ และ กลับมาวางยังที่เดิม

ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราช(พระอินทร์) ได้ปรึกษากับวิษณุกรรมเทพบุตร(เทพแห่งการช่าง)ว่า “พ่อ พี่ชายของเรานิพพานแล้ว เราจะกระทำสักการะ เธอจงเนรมิตเรือนยอด” วิษณุกรรมเทพบุตรจึงเนรมิตเรือนยอดอันสวยงาม จัดวางร่างพระเถระให้อยู่ในเรือนยอดนั้น จากนั้นบรรดาช้างก็พากันยกเรือนยอดเวียนรอบป่าอีกครั้ง เหล่าเทวดาก็รับเรือนยอดต่อจากช้าง และค่อยๆส่งต่อไปตามสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงพรหมโลก และค่อยๆส่งเรือนยอดกลับลงมายังช้างอีกครั้ง

ร่างของพระอัญญาโกณฑัญญะได้รับการทำพิธี จนรุ่งอรุ่ณของวันต่อมาเมื่อไฟได้ดับลงแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จมา ท่านได้เนรมิตเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นมา และบรรจุพระธาตุของท่านอัญญาโกณฑัญญะไว้ในนั้น

อ้างอิง

  • ม.มู.มหาสัจจกสูตร ข้อ ๔๒๖, องฺ. อ.๑/๑/๒๔๑, เถร.อ.๓/๔๙๑ ๔๙๕-๖, สํ.อ.๑/๒/๓๓๙-๓๔๔
  • อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วังคีสสังยุต โกณฑัญญสูตรที่ ๙, อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๙. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน (๗)
  • หนังสือ ๘๐ พระอรหันต์ ฉบับสมบูรณ์ โดย ธรรมสภา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 
5 Comments

Posted by on February 19, 2012 in ธรรมะ

 

Tags: , , , ,

ประวัติย่อ ภิกษุณี เอตทัคคะทั้ง ๑๓ (ตอนที่ ๓)

10 พระนางรูปนันทาเถรี ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ทรงฌาน

ประวัติย่อ

พระนางทรงพระนามว่า เจ้าหญิงรูปนันทา เป็นธิดาของ พระเจ้าสุทโธทนะ กับ พระนางปชาบดีโคตมี เป็นน้องสาวของ เจ้าชายนันทะ นั่นคือ พระนางเป็นน้องสาวต่างมารดาของพระพุทธเจ้านั่นเอง พระนางเป็นผู้มีโฉมงดงามมาก จนได้รับฉายาว่า “ชลบทกับยาณี”

ภายหลังเมื่อญาติสตรีทั้งหลายของนางออกบวช นางเป็นคนรักญาติ จึงออกบวชไปด้วย แต่ก็ไม่เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม เพราะนางไดยินมาว่า พระพุทธเจ้าตำหนิในความงามของร่างกาย นางจึงให้คนอื่นไปฟังธรรมแทนนาง ซึ่งต่อมาพระพุทธเจ้าก็มีคำสั่งห้ามฟังธรรมแทนกัน นางจึงจำต้องไปฟังธรรมด้วยพระองค์เอง

เมื่อนางไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ได้เนรมิต ภาพจำแลงของนางฟ้าให้ปรากฏข้างๆพระองค์ พระนางมองนางฟ้านั้นด้วยความตื่นตะลึงเพราะนางฟ้านั้นมีความงดงามมาก มากยิ่งกว่าพระนาง ต่อมาพระพุทธเจ้าให้ใช้ฤทธิ์ให้นางฟ้านั้นค่อยๆแก่ชราลงลงจนกลายเป็นซากศพ พระนางก็มองตามรูปนั้น และ เกิดเบื่อหน่ายในสังขาร

พระพุทธเจ้าได้เทศน์สอนพระนาง และ ท่านก็ได้บรรลุอรหันต์ ณ ท่ีนั้นเอง

*************************************************************

11 พระนางธรรมทินนาเถรี ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ผู้เป็นธรรมกถึก

ผู้เลิศด้าน ธรรมกถึก คือ ผู้เป็นเลิศกว่าผู้อื่นในด้านการแสดงธรรม

ประวัติย่อ

ก่อนออกบวช พระนางเป็นภรรยาของ วิสาขเศรษฐี ผู้เป็นสหายของพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาภายหลังวิสาขเศรษฐีได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และ บรรลุธรรมชั้นอนาคามี เมื่อกลับมาบ้าน ท่าทีของของวิสาขเศรษฐีก็เปลี่ยนไป ไม่ได้ยิ้มแย้มยินดีในตัวภรรยาเช่นเคย

นางคิดว่า นางคงได้ทำอะไรผิดต่อสามีจึงเข้าไปถาม เมื่อทราบความว่า สามีของนางบรรลุอนาคามีแล้ว นางก็เกิดสังเวชในตัวเอง ขออนุญาตสามีออกบวช ซึ่ง ท่านเศรษฐีก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง ไปกราบทูลขอวอทองจากพระเจ้าพิมพิสารเพื่อส่งนางออกบวช

และหลังจากบวชได้ไม่นานนางก็บรรลุธรรมเป็นอรหันต์

ต่อมานางจึงกลับไปที่บ้านเกิดของตน ไปพบกับสามี ซึ่งสามีนั้นก็ต้องการรู้ว่าภูมิธรรมของอดีตภรรยานั้นถึงขั้นใหนแล้ว จึงแกล้งถามคำถามลองภูมิ ซึ่งเป็นคำถามระดับภูมิธรรมของพระอนาคามี ปรากฏว่าพระนางตอบได้ทั้งหมด ต่อมาเศรษฐีได้ถามเพิ่มถึงคำถามในระดับภูมิธรรมของพระอรหันต์ ซึ่งพระนางได้กล่าวตอบ

แต่ว่า คำตอบนั้นเกินกว่าที่เศรษฐีจะเข้าใจได้ เศรษฐีจึงเอาคำถามคำตอบนั้นไปเล่าให้กับพระพุทธเจ้า และ พระพุทธเจ้าก็ทรงตอบว่า แม้นคำถามนั้นถามกับพระองค์ พระองค์ก็จะตอบเช่นเดียวกับที่พระนางธรรมทินนาได้ตอบไว้

ที่มาของรูปครับ http://board.goosiam.com/html/0109454.html

*************************************************************

12 พระนางโสณาเถรี ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ทรงความเพียร

ประวัติย่อ

ก่อนออกบวช พระนาง ได้แต่งงานกับท่านเศรษฐี มีลูกชาย 7 คน ลูกสาว 7 คน ต่อมาลูกทั้งหลายได้ออกเรือนมีครอบครัว เมื่อท่านเศรษฐีได้เสียชีวิตลง นางก็ได้แบ่งสมบัติออกเป็น 14 ส่วนเท่าๆกันและยกให้ลูกๆ แต่ว่า เมื่อยกสมบัติทั้งหมดให้ลูกๆแล้ว ลูกต่างคนต่างอิดออดไม่อยากเลี้ยงดูท่าน โดยบ่นว่าทำไมแม่ต้องมาอยู่กับบ้านของตนด้วย ทำไมไม่ไปอยู่บ้านพี่น้องคนอื่นๆ

นางเสียใจมาก ที่มาไร้ที่พึ่งพาเมื่อยามชรา จึงตัดสินใจออกบวช

เมื่อออกบวชแล้ว นางคิดว่า เราชรามากแล้ว ไม่ควรที่จะประมาท จึงมีความเพียรดำรงรักษาสติอยู่ในทุกอิริยาบท แต่ว่านางเป็นภิกษุณีบวชใหม่ ซ้ำชรามากแล้ว ทำให้นางทำกิจของภิกษุณีบกพร่อง ภิกษุณีทั้งหลายเลยลงโทษนาง ให้คอยต้มน้ำให้ภิกษุณีทั้งหลายอาบในเวลาเช้าเย็น ซึ่งเมื่อลูกหลานของนางมาเห็นก็ต่างหัวเราะเยาะ

แต่ว่านางก็ไม่เคยละซึ่งความเพียร ระหว่างรอน้ำเดือด นางก็เดินจงกรมไปด้วย แต่ว่านางชราแล้ว เดินกลับไปกลับมายาวๆ กลัวว่าจะเป็นอันตรายล้มลง นางจึงเอามีข้างนึง แปะไว้ที่เสา แล้วเดินจงกรมวนรอบเสานั้น และขณะเดินจงกรมนั้นเอง นางก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

เมื่อท่านเป็นอรหันต์แล้ว ท่านได้คิดว่า ถ้าภิกษุณีทั้งหลายกลับมา แล้วยังไม่รู้ว่าเราเป็นอรหันต์แล้ว มาว่ากล่าวเราเหมือนเช่นเคย ภิกษุณีเหล่านั้นต้องมีกรรมตกนรก ด้วยความเมตตา ท่านจึงแกล้งปล่อยน้ำทิ้งไว้ไม่ต้มให้ร้อน ภิกษุณีทั้งหลายกลับมาแล้ว เห็นว่าน้ำยังเย็นอยู่จึงเข้าไปถาม นางจึงใช้ฤทธ์ิให้น้ำนั้นร้อนขึ้นมาในทันที ภิกษุณีทั้งหลายทราบทันทีว่าท่านได้บรรลุธรรมแล้ว จึงก้มลงกราบขอขมา

*************************************************************

13 พระนางสกุลาเถรี ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน มีทิพยจักษุ

ประวัติย่อ

พระนางเป็นธิดาในตระกูลพราหมณ์ ผู้มีฐานะรำ่รวยระดับเศรษฐี

ภายหลังท่านได้ออกบวชและใช้เวลาไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ผู้พร้อมด้วย วิชชา 3 และ อภิญญา 6 ท่านเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ทั้งหลาย และ พระพุทธทรงยกย่องว่า ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในด้านมีตาทิพย์

ในอดีตชาตินั้น พระนางเคยเกิดในสมัยพระพุทธเจ้านามว่า กัสสปะ นางได้จุดประทีปให้แก่เจดีย์บูชาพระพุทธเจ้ากัสสปะ ด้วยอานิสงค์นี้ จึงทำให้ท่านเป็นผู้เลิศด้านมีตาทิพย์

*************************************************************

อ่านเพิ่มเติมได้ที่เวปนี้ครับ http://www.84000.org/one/2/index.shtml

*************************************************************


ที่มาของรูปครับ http://www.teachenglishinasia.net/asiablog/asian-water-lilies-and-lotus-flowers

*************************************************************

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ประวัติย่อ ภิกษุณี เอตทัคคะทั้ง ๑๓ (ตอนที่ ๑)

ประวัติย่อ ภิกษุณี เอตทัคคะทั้ง ๑๓ (ตอนที่ ๒)

[ภาพที่ ๖๑] พระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี นำนางกษัตริย์บริวารไปทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุณี

กรณีภิกษุณี ในมุมมองของ ท่านพระพรหมคุณาภรณ์

 
1 Comment

Posted by on February 15, 2011 in ธรรมะ

 

Tags: , , , , , , , , , , ,

ประวัติย่อ ภิกษุณี เอตทัคคะทั้ง ๑๓ (ตอนที่ ๒)

5 พระนางภัททากุณฑลเกสาเถรี ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ตรัสรู้เร็วพลัน

พระนางเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายด้านตรัสรู้เร็ว เพราะนางเป็นผู้มีปัญญามาก ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเพียงบทเดียวก็เป็นพระอรหันต์ นั่นคือ

“ผู้ใดกล่าวคาถาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถา ผู้กล่าวคาถาที่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้เพียงคาถาเดียว ยังผู้ฟังให้สงบระงับได้ ชื่อว่า ประเสริฐกว่าแล”

ประวัติย่อ

ท่านเป็นธิดาของเศรษฐี ซึ่งท่านก็ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีสมกับฐานะ วันหนึ่ง ตอนท่านอายุ 16 ขณะกำลังนั่งอยู่ในปราสาท มองลงมาเห็นคนแห่ประจานโจรลักขโมยผู้หนึ่ง ซึ่งโจรนั้นกำลังจะถูกนำไปประหาร นางเกิดหลงรักขโมยนั้น ใคร่จะได้มาเป็นคู่ชีวิต นางจึงไม่ยอมกินอาหารใดๆ บิดามารดาทราบเข้า ก็เลยมาถามว่าเกิดอะไรขึ้น นางจึงเล่าความไปว่ นางเกิดสงสารขโมยนั้น ไม่ว่า บิดามารดาจะห้ามเท่าไหร่นางก็ไม่ฟัง จบบิดามารดาไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะนางบอกว่า ถ้าไม่ยอมนางจะอดอาหารจนตาย บิดามารดา จึงยอมตามใจนาง แอบเอาเงินไปให้เจ้าหน้าที่  ซึ่งเจ้าหน้าที่นั้นก็รับเงิน แล้วไปประหารโจรคนอื่นแทน

เมื่อได้โจรนั้นมาเป็นสามีแล้ว นางก็ปรนิบัติโจรอย่างดี ทำอาหารได้ทานด้วยมือของตนเอง แต่ว่า นิสัยโจรเกินกว่าจะเยียวยา โจรคิดอยากจะขโมยเสื้อผ้าของนางไปขาย เพื่อเอาเงินไปกินเหล้า จึงหลอกนางว่า ตอนที่โดนจับนั้น เค้าได้ ไปบนบานกับเทพเจ้าแห่งเขาที่ชื่อว่า “เขาทิ้งโจร” ไว้ ว่า ถ้ารอดออกไปได้จะทำพิธีบวงสรวง และ ตอนนี้เค้าอยากจะทำพิธีนี้

นางก็ตามใจโจรนั้น นางได้จัดของบวงสรวงอย่างดี พร้อมทั้งบริวารและญาติมากมาย ติดตามไปกับโจร โดยโจรให้นางแต่งตัวให้ล้ำค่ามาที่สุด แล้วทั้งหมดก็ไปยังเขาทิ้งโจรด้วยกัน เมื่อถึงเชิงเขา โจรก็บอกให้คนทั้งหลายรอก่อน เขาจะไปกับธิดาเศรษฐีตามลำพัง เมื่อขึ้นไปถึงหน้าผาแล้ว โจรก็บอกว่า จงถอดของมีค่ามาให้หมด เราจะเอาไปกินเหล้า ไม่ว่า นางจะอธิบายอย่างไรว่า นางสามารถหาเหล้ามาให้โจรได้มากมาย แต่โจรก็ไม่ยอม นางจึงต้องใช้ปัญญาเอาตัวรอด

นางอ้างว่า ขอมองหน้าและทำความเคารพสามีเป็นครั้งสุดท้ายโดยการใหว้สามีทั้ง4 ทิศ นางค่อยๆไหว้สามีที่ข้าง เมื่อโจรเผลอ นางก็ผลักโจรตกเหวไป

เมื่อโจรตายแล้ว นางคิดได้ว่า นางคงไม่มีหน้ากลับไปยังบ้านตน เพราะ ว่าบอกให้พ่อแม่ไปซื้อโจรมา สุดท้ายก็ฆ่าโจรนั้นทิ้งเสีย นางจึง ออกเดินทางไปจนพบ สำนักบวช ของพวกปริพาชก และ ได้ออกบวชในสำนักนั้น นางได้ออกบวชโดยถอนผมด้วยวิธีเอาน้ำตาลก้อนมาถอนผมที่ละเส้น เมื่อผมยาวขึ้นมาใหม่ก็ม้วนเป็นก้อนไม่ยาวดังเดิม คนทั้งหลายจึงเรียกนางว่า กุณฑลเกสี คือ ผู้มีผลดังหม้อ

โดยปรกติแล้ว สำนักนี้ มีการศึกษาอยู่ 2 แบบคือ ฝึกณาณ กับ ฝึกเรียนรู้คำถามคำตอบ 1000 ข้อ นางเลือกที่จะเรียนรู้วิชาคำถามและก็สามารถเรียนจบได้ในเวลาอันสั้น ปัญญาของนางนั้นมีมาก ไม่ใครสามารถโต้วาทีกับนางได้ จนเป็นครั่นคร้ามไปทั่ว

ต่อมานางได้ถือเอากิ่งหว้าเป็นสัญลักษณ์ โดยเอากิ่งหว้าไปปักตามที่ต่างๆ โดยท้าว่า หากใครคิดว่า มีปัญญามากก็ให้มาทำลายกิ้งหว้านี้ แล้วมาโต้วาทีกับนาง ถ้านางแพ้ นางจะยอมเป็นคนรับใช้ แต่ถ้าคนชนะเป็นนักบวช นางจะไปบวชในสำนักนั้น

นางโต้วาทีชนะชนทั้งหลายไปทั่ว จนมาถึงที่กรุงสาวัตถี นางก็ปักกิ่งหว้าเช่นเคย เด็กทั้งหลายก็ไปมุงดูกิ่งหว้านั้น พระสารีบุตรเดินผ่านมาพอดี จึงเข้าไปถาม และ บอกให้เด็กไปทำลายกิ่งหว้า ท่านจะเป็นผู้โต้วาทีเอง

บ่ายวันนั้นคนมากันเต็มไปหมดเพื่อชมการโต้วาทีของ พระสารีบุตร กับ นางกุณฑลเกสี แต่ว่า ไม่ว่า นางกุณฑลเกสีจะถามอะไรไปพระสารีบุตรก็ตอบได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้จริงแล้ว เพราะว่า ก่อนบวชพระสารีบุตรเคยบวชในสำนักปริพาชกเป็นผุ้เชีี่ยวชาญในคำสอนต่างๆ และเป็นถึงระดับอาจารย์ของเหล่าปริพาชกเลยทีเดียว

เมื่อนางกุณฑลเกสีหมดคำถาม พระสารีบุตรก็ถามบ้างเพียงคำถามเดียวว่า “อะไรชื่อว่าหนึ่ง” นางตอบคำถามนี้ไม่ได้เลยยอมและออกบวชเป็นภิกษุณีในวันนั้นเอง

วันเดียวกันนั้นเอง พระสารีบุตรได้พานางไปพบพระพุทธเจ้า และ พุทธเจ้าก็เทศน์ว่า “ผู้ใดกล่าวคาถาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถา ผู้กล่าวคาถาที่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้เพียงคาถาเดียว ยังผู้ฟังให้สงบระงับได้ ชื่อว่า ประเสริฐกว่าแล” เพียงเท่านี้นางก็บรรลุอรหันต์ขณะยืนนั้นเอง

*************************************************************

6 พระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพาเถรี) ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ทรงอภิญญา

พระนางภัททากัจจานาเถรีเป็นผู้ทรงอภิญญาอย่างใหญ่ ซึ่งไม่มีภิกษุณีใดเทียบเท่า ผู้ที่บรรลุอภิญญาใหญ่นี้มีเพียง 4 ท่านคือ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระพากุลเถระ และพระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา)

ประวัติย่อ

ท่านเกิดในสกุลกษัตริย์ ราชวงศ์โกลิยะ เมื่ออายุได้ 16 พรรษา ทรงได้อภิเสกสมรสกับ เจ้าชายสิทธัตถะ ต่อมาเมื่อายุได้ 29 พรรษาทรงมีพระโอรสนามว่า เจ้าชายราหุล ต่อมาเจ้าชายสิทธัตถะได้ออกบวช และ บรรลุเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า

ตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าออกบวช เมื่อพระนางทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงอยู่เช่นไร นางจะอยู่เช่นนั้นด้วย เช่น เมื่อทรงทราบว่า พระพุทธเจ้านุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ พระนางก็จะเปลี่ยนมานุ่งห่มเช่นเดียวกัน แม้นว่าจะมีญาติๆจะมาขอรับนางกลับไปเลี้ยงดู พระนางก็ไม่ยอม

เมื่อพระพุทธเจ้ากลับมาโปรดพระญาติในกรุงกบิลพัสดุ์ ตอนแรกนั้นพระนางได้ไม่มาเข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเลย จนภายหลังพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาหาพระนางพร้อมทั้งพระโมคคัลลานะสารีบุตร และ เทศนาสอนสั่งจนนางได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

ภายหลังเมื่อพระนางมหาปชาบดีได้ออกบวชเป็นภิกษุณีแล้ว พระนางก็คิดว่า ชนทั้งหลายก็ได้พากันออกบวช แม้นแต่สามีและลูกของเราก็ยังออกบวช พระนางจึงออกบวชด้วพร้อมกับพระนางรูปนันทา และ บริวาร 500 นาง และ พระนางก็ได้บรรลุอรหันต์ในเวลาไม่นาน

พระนางได้ละสังขารเข้าสู่พระนิพพานเมื่อพระชนพรรษาได้ 78 ปี หรือคือ 2 ปีก่อนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน

เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา ซึ่งกำลังหลับสนิท เป็นนิมิตอำลาผนวช

*************************************************************

7 พระนางภัททกาปิลานีเถรี ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน มีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

ท่านเป็นผู้เลิศด้านมี ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ผู้เป็นเลิศด้านระรึกชาติ

ประวัติย่อ

ท่านเป็นธิดาสาวของเศรษฐีผู้หนึ่ง ต่อมาได้แต่งงานกับ “ปิปผลิมานพ” ทั้งสองเป็นสามีภรรยาที่แปลกคือ ไม่เคยถูกเนื้อต้องตัวกันเลย เวลานอนกก็เอาดอกไม้มาวางไว้ตรงกลาง ไม่มีใครข้ามดอกไม้นั้นไปโดนตัวอีกคน

เมื่อบิดามารดาของท่านทั้งสองเสียชีวิต ท่านทั้งสองก็ได้รับสมบัติทั้งหมด ผ่านมาวันหนึ่ง ท่านได้ออกไปดูคนเอาเอาพืชผลมาตากแดด เห็นนกจิกกินหนอนแมลง เลยถามสาวใช้ว่า กรรมที่นกมากินหนอนแมลงนั้นจะตกแก่ใคร สาวใช้ตอบว่า ย่อมต้องตกแก่นายหญิง เพราะเป็นเจ้าของสิ่งทั้งหมดนี้ นางเกิดความสังเวชมาก จึงตัดสินใจพร้อมกับสามี ออกบวชด้วยกัน โดยได้แบ่งสมบัติทั้งหมดให้ญาติและคนงาน เมื่อปลงผมแล้ว ท่านทั้งสองก็ออกเดินมาด้วยกันจนพบทางแยก ณ ทางแยกนั้นเอง ท่านทั้งสองก็ได้แยกทางกัน โดยสามีไปทางขวา ภรรยาไปทางซ้าย

ต่อมา ปิปผลิมานพ ได้ออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า ได้นามว่า “พระมหากัสสปะ” ส่วนนางได้ไปออกบวชในสำนักของปริพาชก ภายต่อมาเมื่อพระนางมหาปชาบดีได้ออกบวชเป็นภิกษุณีแล้ว นางได้ออกบวชเป็นภิกษุณีด้วย และ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ประกอบด้วยฤทธิ์และอภิญญา เป็นผู้เชี่ยวชาญในการระลึกชาติ

*************************************************************

8 พระนางกีสาโคตมีเถรี ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ทรงจีวรเศร้าหมอง

ประวัติย่อ

พระนางกีสาโคตมี สมัยเด็กนั้นเป็นคนยากไร้ เนื่องด้วยนางเป็นคนผอม คนทั้งหลายจึงเรียกพระนางว่า กีสาโคตมี (กีสา แปลว่า ผอม)

ในสมัยนั้นที่กรุงสาวัตถี มีเศรษฐีท่านหนึ่ง อยู่มาวันดีคืนดี สมบัติที่ท่านมีทั้งหมดก็กลายเป็นถ่าน หาค่าไม่ได้ ท่านเศรษฐีเสียใจมาก จนต่อมาได้เพื่อนคนนึงแนะนำว่า ให้เอาถ่านนี้ไปวางขายข้างถนน ถ้ามีใครมาทักว่า เอาทองมาขายทำไม แปลว่า คนนั้นคือผุ้มีบุญ ถ้าเป็นชายก็ให้รับมาเป็นลูกบุญธรรม ถ้าเป็นหญิงก็ให้สู่ขอมาเป็นธิดา

ท่านเศรษฐีก็ทำตาม เอาถ่านทั้งหลายมาวางขาย นางกีสาโคตมี มาเห็นเข้าเลยถามว่า คนทั้งหลายเค้าเอาอ้อยเอาผ้ามาขาย แต่ท่านเอาทองมาขายทำไม เมือนางเอามือจับที่ถ่านเหล่านั้น ถ่านก็กลับกลายมาเป็นทองอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นท่านเศรษฐีจึงได้ไปสู่ขอนางกิสโคตมี และ ยกสมบัติให้

เมื่อเวลาผ่านไป นางกีสาโคตมีได้ตั้งครรภ์กับบุตรชายเศรษฐี คลอดบุตรออกเป็นเด็กชาย เมื่อเด็กถึงวัยเดินได้ ก็ได้เสียชีวิตลง นางเสียใจมาก ห้ามคนทั้งหลายเผาศพลูกนาง อุ้มลูกร้องไห้ไปยังที่ต่างๆ ขอยาวิเศษชุบชีวิตลูก แต่คนทั้งหลายก็ไม่มีใครช่วยนางได้ ต่อมามีคนผุ้หนึ่งแนะนำให้นางไปหาพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน พระพุทธเจ้าสามารถช่วยนางได้

พระพุทธเจ้าได้บอกนางว่า ให้นางไปหาเมล็ดผักกาดมา จากบ้านที่ไม่เคยมีคนตาย ถ้าหามาได้จะชุบชีวิตบุตรชายให้ นางฟังแล้วดีใจมาก อุ้มศพลูกชายไปยังบ้านต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถหาเมล็ดผักกาดได้ จริงๆแล้วทุกบ้านล้วนแต่มีเมล็ดผักกาด แต่ว่า ไม่มีบ้านใหนที่ไม่เคยมีคนตาย จากนั้นนางจึงคิดได้ วางศพลูกชายทิ้งไว้ในป่า แล้วไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ท่านก็บรรลุเป็นโสดาบัน ออกบวชเป็นภิกษุณี

วันหนึ่งขณะนางทำความสะอาดอุโบสถท่านได้มองเห็นดวงประทีป ท่านก็เอาดวงประทีปนั้นเป็นอารมณ์ และ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

*************************************************************

9 พระนางสิงคาลมาตาเถรี ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน พ้นกิเลสด้วยศรัทธา

ประวัติย่อ

ท่านได้เกิดในตระกูลเศรษฐี ต่อมาได้แต่งงานกับชายหนุ่มที่มีฐานะเสมอกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ “สิงคาลกุมาร” ด้วยเหตุนี้คนทั้งหลายจึงเรียกนางว่า สิงคาลมาตา

สามีของนางนั้นเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งต่อมาสามีนางได้เสียชีวิตลง ก่อนตาย สามีนางได้สั่งสอนให้ลูกชายของนางบูชาทิศ6  ซึ่งสิงคาลกุมารก็ทำตามอย่างดีคือ ยืนไหว้ทิศทั้งหก จนมาวันนึง พระพุทธเจ้าได้มาพบเข้า เลยสอนเรื่องทิศทั้ง 6 ของพระอริยะนั้น คือ

  1. ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดาบิดา
  2. ทิศเบื้องขวาง ได้แก่ ครูอาจารย์
  3. ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา
  4. ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย
  5. ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ทาสกรรมกร
  6. ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์

ซึ่งคำสอนนี้ทำให้ สิงคาลกุมาร คิดได้ และ ประกาศตนเป็นผู้ถึงรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

เมื่อลูกของนางได้ถึงรัตนตรัยแล้ว นางก็ได้ไปฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า นางได้เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า นางมาคิดว่า สามีของนางก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว นางจึงคิดที่จะออกบวชเป็นภิกษุณี เมื่อได้ออกบวช ศรัทธาของนางก็มากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

นางได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม แต่ยังไม่ทันได้ก้มลงกราบ นางได้ยืนมองสรีระของพระพุทธเจ้าด้วยความศรัทธาอันเปี่ยมล้น วันนั้นนางได้ฟังพระธรรมเทศนาและ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นเอง

*************************************************************

อ่านเพิ่มเติมได้ที่เวปนี้ครับ http://www.84000.org/one/2/index.shtml

*************************************************************

ที่มาของรูปครับ http://aquabluez.tumblr.com/post/538459200/thank-you-for-following-beautiful-white-lotus

*************************************************************

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ประวัติย่อ ภิกษุณี เอตทัคคะทั้ง ๑๓ (ตอนที่ ๑)

ประวัติย่อ ภิกษุณี เอตทัคคะทั้ง ๑๓ (ตอนที่ ๓)

[ภาพที่ ๖๑] พระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี นำนางกษัตริย์บริวารไปทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุณี

กรณีภิกษุณี ในมุมมองของ ท่านพระพรหมคุณาภรณ์

 
Leave a comment

Posted by on February 15, 2011 in ธรรมะ

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,

ประวัติย่อ ภิกษุณี เอตทัคคะทั้ง ๑๓ (ตอนที่ ๑)

ภิกษุณี คือ หญิงผู้ที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา หรือคือ พระสตรีนั่นเอง

ภิกษุณีได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกใน พรรษาที่ 5 หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ในบรรดาภิกษุณีทั้งหลาย มีอยู่ 13 ท่านที่พระพุทธเจ้าท่านทรงยกย่องว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุณีผู้อื่น หรือ ที่เราเรียกกันว่า พระเอตทัคคะนั่นเอง

พวกเราสมัยนี้มักจะพากันละเลย และ ไม่ค่อยจะสนใจกันเท่าไหร่ว่า ภิกษุณีแต่ละท่าน มีประวัติมีความสำคัญอย่างไร ผมเลยได้ลองทำสรุปประวัติย่อๆของภิกษุณีเอตทัคคะทั้ง 13 ท่านมาให้อ่านกันครับ

*************************************************************

1 พระนางมหาปชาบดีเถรี ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ผู้รัตตัญญู (ผู้รู้ราตรีนาน)

พระนางมหาปชาบดีเถีรเป็นสตรีที่ออกบวชเป็นคนแรก พระพุทธเจ้า ท่านทรงยกย่องพระนางว่า เป็นภิกษุณีผู้รู้รัตตัญญู คือ รู้ราตรีนาน หามีสตรีใดในพระพุทธศาสนา ที่จะมีพรรษาเทียบเท่าพระนาง

ประวัติย่อ

พระนางประชาบดีเป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า และ ทั้งยังทรงเป็นพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้าด้วย ทรงเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าในวัยเด็กมาอย่างดี

ครั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ได้บรรลุอรหันต์และนิพพานไปแล้ว พระนางก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอบวช แต่พระพุทธเจ้าทรงไม่อนุญาต แม้นพระนางจะทูลขอถึง 3 ครั้งก็ตาม

ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังแคว้นเวสาลี พระนางได้โกนผมเหมือนนักบวช ทรงผ้าผ้ากาสาวพัสตร์ และนำ สตรีวรรณะกษัตริย์ 500 ท่าน (ผู้ซึ่งสามีได้ออกบวชแล้วไป) ออกเสด็จด้วยพระบาทไปหาพระพุทธเจ้า เพื่อขอบวชอีกครั้งนึง แต่ว่า พระพุทธเจ้าก็ยังไม่ทรงอนุญาต

พระอานนท์มาพบพระนางร้องไห้ อยุ่ที่ริมประตูจึงเข้าไปถาม เมื่อทราบความแล้ว จึงไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยทูลขอให้พระองค์อนุญาตให้สตรีออกบวชได้ โดยพระอานนท์ให้เหตุผลว่า สตรีทั้งหลายล้วนมีความสามารถในการบรรลุธรรมไม่ต่างจากบุุรุษ และ ครั้งนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต แต่ว่า สตรีทั้งหลายต้องรับ “ครุธรรม 8 ประการ” ให้ได้คือ

  1. ภิกษุณีแม้อุปสมบทแล้วได้ ๑๐๐ พรรษา ก็พึงเคารพกราบไว้ พระภิกษุ แม้ อุปสมบทได้วันเดียว
  2. ภิกษุณี จะอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีพระภิกษุนั้นไม่ได้ ต้องอยู่ในอาวาสที่มีพระภิกษุ
  3. ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับฟังโอวาทจากสำนักภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
  4. ภิกษุณี อยู่จำพรรษาแล้ว วันออกพรรษาต้องทำปวารณาในสำนักสงฆ์ทั้งสองฝ่าย (ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
  5. ภิกษุณี ถ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสส อยู่ปริวาสกรรม ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย
  6. ภิกษุณี ต้องอุปสมบทในสำนักสงฆ์สองฝ่าย หลังจากเป็นนางสิกขมานารักษา “สิกขาบท 6 ประการ” คือ ศีล5 กับ การเว้นการรับประทานอาหารยามวิกาล ทั้ง 6 ประการนี้ มิให้ขาดตกบกพร่องเป็นเวลา 2 ปี ถ้าบกพร่องในระหว่าง 2 ปี ต้องเริ่มปฏิบัติใหม่
  7. ภิกษุณี จะกล่าวอักโกสกถาคือ ด่าบริพาษภิกษุ ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้
  8. ภิกษุณี ตั้งแต่วันอุปสมบทเป็นต้นไป พึงฟังโอวาทจากภิกษุเพียงฝ่ายเดียว จะให้โอวาทภิกษุมิได้

พระนางประชาบดี ดีพระทัยมาก ทรงรับครุธรรม 8 ประการ และออกบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา

*************************************************************

2 พระนางเขมาเถรี อัครสาวิกาเบื้องขวา ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน มีปัญญา

พระนางเขมาเถรี เป็นภิกษุณี ผู้มีปัญญาเลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านเป็นอัครสาวิกาเบื้องขวา ตำแหน่งของท่านนั้น เทียบได้กับพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกเลยทีเดียว

ประวัติย่อ

ก่อนออกบวชท่านเป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร ท่านเป็นสตรีที่มีรูปงามมาก แต่ท่านไม่เคยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะเคยได้ยินมาว่า พระพุทธเจ้านั้นตำหนิความงามของร่างกาย

พระพระเจ้าพิมพิสารคิดว่า เราเป็นถึงอุปัฏากของพระพุทธเจ้า แต่อัครมเหสีของเราไม่เคยไปฟังธรรมเลย เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ท่านจึงใช้ให้คนแต่งกลอนบรรยายถึงความงามของวัดเวฬุวัน แล้วให้แกล้งไปร้องข้างๆที่ประทับของพระนางเขมา พระนางเกิดสนใจอยากจะชมความงามของวัด จึงคิดที่จะเข้าไปชมดู

เมื่อพระนางเข้าไปในวัดแล้ว ทรงได้พบกับพระพุทธเจ้า และ ได้ฟังธรรม พระนางทรงบรรลุอรหันต์ ณ. ขณะประทับยืนนั้นเลยทีเดียว

พระเจ้าพิมพิสารทรงดีพระทัยมาก ที่มหสีของพระองค์บรรลุธรรมเป็นอรหันต์ ทรงให้พระนางประทับบนวอทองส่งเสด็จให้พระนางออกบวชเป็นภิกษุณี

*************************************************************

3 พระนางอุบลวรรณาเถรี อัครสาวิกาเบื้องซ้าย ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน มีฤทธิ์

พระนางอุบลวรรณาเถรี เป็นภิกษุณี ผู้มีฤทธิ์เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านเป็นอัครสาวิกาเบื้องซ้าย ตำแหน่งของท่านนั้น เทียบได้กับพระโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวกเลยทีเดียว

ประวัติย่อ

พระนางเป็นบุตรีของเศรษฐีในกรุงสาวัตถีของพระเจ้าพิมพิสาร พระนางมีลักษณะครบเบญจกัลยาณี ผิวของพระนางสีดังก้านบัว ท่านเลยได้ชื่อว่า อุบลวรรณา

ด้วยความที่เป็นสาวงาม จึงมีคนทั้งหลายหมายปองมาสู่ขอไปเป็นภรรยา ไม่ว่า กษัตริย์ต่างๆหรือเศรษฐี  บิดาของนางลำบากใจมากไม่รู้จะทำอย่างไรเลยเข้ามาปรึกษากับพระนาง และ ได้ขอสรุปว่า ให้พระนางออกบวชน่าจะเป็นการดีที่สุด

หลังจากออกบวชแล้ว คืนหนึ่งพระนาง ได้เข้าเวรไปดูแลทำความสะอาดโรงอุโบสถ นางได้จุดประทับ พระนางมองประทีปนั้นแล้วเอามาพิจารณาเป็นอารมณ์ และ ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในขณะนั้นเอง

หลังจากบรรลุธรรมแล้ว พระนางได้จาริกไปยังที่ต่างๆโดยลำพัง มีครั้งนึง ขณะที่ท่านพักอยู่ที่กระท่อมในป่า ชายหนุ่มลูกพี่ลูกน้องของท่านได้แอบเข้ามาข่มขืน แม้นพระเถรีจะห้ามเท่าไหร่เขาก็ไม่ยอมฟัง สุดท้ายเขาก็โดนธรณีสูบลงไปตรงนั้นเอง จากเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงออกกฏห้ามภิกษุณีออกไปอยู่ป่า

*************************************************************

4 พระนางปฏาจาราเถรี ผู้เป็นเอตทัคคะด้าน ทรงพระวินัย

ตำแหน่งผู้ทรงพระวินัย คือ ผู้ที่มีความรอบรู้ แม่นยำ และ เข้าใจในพระวินัยต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น

ประวัติย่อ

ท่านเป็นธิดาสาวของเศรษฐี ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีที่สุดเท่าที่ธิดาหนึ่งพึ่งได้รับ แต่ว่า ท่านในวัย 16 ได้ไปหลงรักกับคนใช้ และ ภายหลังทั้ง2ได้หนีออกจากบ้านเศรษฐี ไปอยู่ด้วยกันในป่า

ต่อมาได้ตั้งครรภ์ลูกคนแรก นางต้องการกลับมาคลอดบุตรที่บ้านบิดา แต่สามีไม่ยอม เพราะกลัวโทษจะมาถึง นางจึงหนีเดินเข้าป่ามาลำพังและก็ได้คลอดลูกในป่านั้นเอง ภายหลังนางได้ตั้งท้องลูกคนที่สอง สามีก็ไม่ยอมให้กลับมายังบ้านบิดาเช่นเคย นางจึงอุ้มลูกคนแรกพร้อมท้องแก่ใกล้คลอด หนีสามีออกจากบ้าน คราวนี้สามีใจอ่อน ยอมตามนางมาด้วย

ระหว่างทางเกิดพายุฝนตกอย่างหนัก นางเกิดบวชท้องจะคลอดลูกขึ้นมาตรงกลางป่านั้น สามีนางออกไปตัดกิ่งไม้เพื่อเอามากำบังให้นาง แต่โชคร้ายโดนงูกัดตาย นางรอสามีเท่าไหร่ก็ไม่กลับมา นางเลยจำต้องคลอดลูกกลางพายุ นางต้องดูแลลูกน้อยทั้งสองกลางพายุนั้น โดยเอามือเข่ายันพื้นเป็นท่าคลานแล้วให้ลูกหลบฝนใต้ท้องนาง

เมื่อฝนหยุด นางจึงได้มาพบว่า สามีนางถูกงูกัดตายแล้ว นางไม่รู้ทำอย่างไรเลยอุ้มลูกทั้งสองเดินทางต่อกลับไปหาบิดามารดา ระหว่างทางพบกับแม่นำ้ใหญ่ นางจังวางลูกคนโตไว้ริมฝั่งแม่น้ำ แล้วอุ้มทารกคนเล็ก ลุยน้ำไปวางไว้อีกฝั่ง ขณะลุยน้ำกลับมารับลูกคนโต เหยี่ยวตัวนึงได้โฉบมาเอาลูกคนเล็กนางไปเป็นอาหาร นางตกใจมา โบกมือไล่เหยี่ยวนั้น แต่ว่า ลูกคนโตที่รออยู่ คิดว่าแม่เรียก เลยวิ่งลงน้ำมาหา กลายเป็นว่าจมน้ำตายหายไป

นางเสียลูกทั้งสองและสามีในเวลาไม่ถึง 1 วัน นางทั้งหิว ทั้งเหนื่อยล้า ทั้งบอบช้ำในจิต เดินรำพึงรำพันกลับไปยังบ้านบิดา พบเห็นคนผ่านมาจึงถามถึงบิดามารดา ได้ความเมื่อคืนพายุหนักได้ทำลายบ้านเรือน บิดา มารดา และ พี่ชายของนาง ล้วนเสียชีวิตลงแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา

เพียงเท่านั้นเองนางถึงกับเสียสติ เดินร้องไห้ครำครวญ ไปแบบไร้จุดหมาย จนเสีื้อผ้าหลุดรุ่ยเปลือยกาย คนทั้งหลายเห็นนางก็คิดว่าเป็นคนบ้า เอาดิน เอาฝุ่นขว้างใส่

นางได้เดินร้องไห้ไปเรื่อยๆจนผ่านถึงวัดเชตวัน คนทั้งหลายต่างขับไล่ไม่ให้นางเข้าไปในวัด เพราะคิดว่าเป็นคนบ้า แต่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้ พร้อมกล่าวว่า “จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง” เท่านั้นเองนางก็ได้สติ เกิดมีความละอายที่ตนเองไม่ได้นุ่งผ้า คนใจเอาเอาผ้ามาให้นางห่ม และนางก็ได้ร่วมนั่งฟังธรรม และ บรรลุธรรมเป็นโสดาบันในที่ตรงนั้นเอง ซึ่งต่อมาท่านก็ได้ออกบวชเป็นภิกษุณี

*************************************************************

อ่านเพิ่มเติมได้ที่เวปนี้ครับ http://www.84000.org/one/2/index.shtml

*************************************************************

ที่มาของรูปครับ http://www.schubart.net/archives/2004/07/31/lotus-flower

*************************************************************

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ประวัติย่อ ภิกษุณี เอตทัคคะทั้ง ๑๓ (ตอนที่ ๒)

ประวัติย่อ ภิกษุณี เอตทัคคะทั้ง ๑๓ (ตอนที่ ๓)

[ภาพที่ ๖๑] พระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี นำนางกษัตริย์บริวารไปทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุณี

กรณีภิกษุณี ในมุมมองของ ท่านพระพรหมคุณาภรณ์

 
3 Comments

Posted by on February 15, 2011 in ธรรมะ

 

Tags: , , , , , , , , , , , ,