RSS

ปาราชิก คืออะไร?

25 May

******************************************

ผมบังเอิญทราบว่า มีบางท่านได้เอาบทความนี้ของผมไปอ้างอิงใน wiki 

ท่านใดที่เข้ามาอ่านก็ขอรบกวนไปข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นด้วยนะครับ (กระผมเป็นเพียงผู้สนใจธรรมะ หาใช่ผู้รู้แต่อย่างใดครับ 😀 )

******************************************

ช่วงนี้ผมสนใจเรื่อง “ปาราชิก” ครับ คือเรามักจะได้ยินตามข่าวต่างๆอยู่บ่อย แต่ผมก้ไม่ค่อยรู้เลยว่าจริงๆแล้ว ปาราชิกนั้นคือะไร มีรายละเอียดยังไงบ้าง

พอดีมีเวลาเลยลองค้นๆดู ก็ไ้ด้ความรู้มาเยอะเลยครับ แต่ว่า ตามเวปต่างๆส่วนใหญ่จะเขียนเป็นคำอ่านยากๆ เลยคิดว่าจะลองสรุปดู

******************************************

ปาราชิกคืออะไร

ปาราชิกเหมือนกับโทษประหารของพระครับ พระใดทำผิดกฏแล้วต้องสึกทันที แล้วก็กลับมาบวชใหม่อีกไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เหมือนกับหินที่แตกแล้วไม่สามารถต่อได้อีก

ปาราชิก แปลว่า “ผู้แพ้” ครับ มีรากศัพท์มากจากคำเดียวกับคำว่า “ปราชัย”

******************************************

ปาราชิกมีอะไรบ้าง

ปาราชิกมีอยู่ 4 ข้อครับ …. ลองอ่านข้างล่างนี้ดู เป็นสำนวนตามพระไตรปิฏกฉบับแปลไทย อ่านยากหน่อยนะครับ

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุใด ถึงพร้อมซึ่งสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย แล้วไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ เป็นส่วนแห่งโจรกรรม จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุใด จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิต ให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตาย โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ [คือไม่รู้จริง] กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตน อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม [คือเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม ถูกซักถามก็ตาม ไม่ถูกซักถามก็ตาม] เป็นอันต้องอาบัติแล้ว แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ

******************************************

อธิบายปาราชิกข้อที่1

ปาราชิกข้อที่1 หลักใจความคือ “พระห้ามร่วมเพศ” พระใดร่วมเพศ พระนั้นถือว่าต้องปาราชิก

พระไตรปิฏกเนี่ย เขียนไว้ละเอียดมากๆเลยนะครับว่า ห้ามร่วมเพศทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นร่วมเพศกับ คน อมุษย์ หรือ สัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดๆด้วย รวมถึงกระเทย

แถมการร่วมเพศนี้ ได้ระบุไว้ัชัดเจนอีกว่าไม่ว่าจะเป็นทาง อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือ ปาก เพียงแค่อวัยวะเพศสอดเข้าไปแค่เท่าเมล็ดงาก็ถือว่า ร่วมเพศแล้ว

ทีนี้ก็มีข้อปลีกย่อยครับ คือ

  • ถ้าหลวงพี่คิดจะร่วมเพศ แต่พอแค่โดนตัว แล้ว ไหวตัวทัน เลิกก่อน อันนี้หลวงพี่ผิดข้ออาบัติย่อย (อาบัติทุกกฏ) ไม่ถึงกับปาราชิก
  • ถ้าล่วงพี่ไม่ได้ร่วมเพศในช่องทางทั้ง 3 แต่ว่าเล่นกันแต่ภายนอก อันนี้หลวงพี่ ผิดข้ออาบัติอย่างกลาง (สังฆาทิเสส)
  • ถ้าหลวงพี่โดนลวนลาม โดนข่มขืน หรืออะไรก็ที่ได้เกิดการร่วมเพศขึ้น ถ้าหลวงพี่ไม่ยินดีเลย หลวงพี่ไม่ผิด แต่ถ้าหลวงพี่ิยินดีนิดเดียว ก็จะปาราชิกทันที
  • ถ้าหลวงพี่โดนลักหลับ พระวินัยได้อธิบายเหมือนกันครับว่าคือ ถ้าตื่นมาแล้วยินดี ก็ ผิด ตื่นมาแล้วไม่ยินดี ก็ ไม่ผิด
  • ถ้าหลวงพี่เป็นพระอรหันต์ แล้ว เกิดการร่วมเพศขึ้นโดยหลวงพี่ไม่เจตนาเลย อันนี้ไม่ผิด

จริงๆแล้วมีข้อย่อยลงไปอีกเยอะมากครับ แต่หลักการคือ หลวงพี่ยินดีด้วยหรือไม่ ถ้ายินดีก็ผิดครับ แต่ที่ผมเอามาลงแค่หลักๆ พอให้ได้ใจความ

อาบัติย่อยๆที่ใกล้เคียง

นอกจากปาราชิกอันเป็นอาบัติหนักแล้ว เรื่องเกี่ยวกับทางเพศยังมีบัญญัิติไว้ใน สังฆาทิเสสด้วย (ความผิดแบบกลางๆ) คือ ภิกษุใดทำสิ่งเหล่านี้จะถือว่าผิดสังฆาทิเสส

  1. จงใจทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน
  2. มีจิตกำหนัดแล้วจับต้องร่างกายสตรี
  3. มีจิตกำหนัดแล้วพูดกับสตรีพาดพิงเมถุนธรรม
  4. มีจิตกำหนัดแล้วพูดกับสตรีให้บำเรอตนด้วยกาม (พูดหลอกล่อให้ผู้หญิงมาทำให้)

******************************************

อธิบายปาราชิกข้อที่2

ปาราชิกข้อที่2 หลักใจความคือ “พระห้ามลักทรัพย์”

พระไตรปิฏกก็กล่าวระบุไว้ละเอียดมากๆเหมือนกันอีกครับ ว่า ห้ามขโมยทั้งในบ้าน และ ในป่า โดยนิยามว่า ป่าคือที่ที่ไม่ใช่บ้าน … แปลง่ายๆว่า ห้ามขโมยทุกที่ในโลก ^ ^

และยังได้ระบุละเอียดลงไปชัดเลยครับว่า ถ้ามีใจคิดขโมย เอื้อมมีไปจับของชิ้นแล้วแล้ว จนของเคลื่อนออกจากที่ ก็ถือว่าปาราชิกทันที!!!

แต่ทั้งหมดก็อยุ่ที่เจตนาเป็นหลัก ว่าจิตคิดจะขโมยมั้ย ซึ่งพระวินัยก็ได้มีข้อยกเว้นไว้ให้คือ จะไม่ถือเป็นปาราชิกถ้า

  • พระนั้น เข้าใจผิดคิดว่าเป็นของตน
  • ไปหยิบเอามาใช้ด้วยคุ้นเคย(วิสาสะ)กับเจ้าของ
  • เป็นการขอยืม

อันนี้เป็นข้อยกเว้นหลักๆนะครับ ผมไม่เอาลงมาหมด เดี๋ยวจะยาวไป

******************************************

อธิบายปาราชิกข้อที่3

ปาราชิกข้อที่3 หลักใจความคือ “พระห้ามฆ่าคน”

ข้อนี้ฟังดูง่าย และ ตรงไปตรงมาดีใช่มั้ยครับ แต่ว่า จริงๆแล้วพระไตรปิฏกได้ระบุรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกคือ

  • ห้ามพระพรรณาคุณหรือชักชวนให้ตาย (ข้อนี้รวมทั้ง การพูด การใช้ท่าทาง การเขียน และ ทุกๆอย่างครับ)
  • ห้ามช่วยหาอาวุธมาฆ่าคน
  • ไม่ฆ่าเองแต่สั่งการก็ถือว่าผิด
  • รับคำสั่งมาแล้วทำตามก็ผิด

คำว่าคนนี้ พระวินัยได้ระบุชัดเจนมากครับ ว่า รวมไปถึงตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์ นั่นคือ ถ้าพระมีส่วนในการทำแท้ง พระก็ผิดปาราชิก

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เหมือนกันกับข้ออื่นครับ คือ ถ้าพระไม่มีเจตนา ก็ไม่ผิด

ข้อนี้จะสามารถโยงได้ไปถึงอาบัติอื่นๆคือฆ่าสัตว์ครับ โดยพระวินัยระบุไว้ว่า “ถ้าพระจงใจฆ่าสัตว์ถือเป็นอาบัติปาจิตตีย์ (อาบัติย่อยแบบหนึ่ง)” เว้นแต่ว่าไม่มีเจตนา

ที่มาของรูป http://www.justsaypictures.com/murder-05.html

******************************************

อธิบายปาราชิกข้อที่4

ปาราชิกข้อที่4 หลักใจความคือ “พระห้ามอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน”

อวดคุณวิเศษเนี่ย เค้าเรียกว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม ครับ โดยที่ อตุตริมนุสสธรรมเนี่ย คือ

  1. ฌาน – ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
  2. วิโมกข์ – สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์
  3. สมาธิ – สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิตสมาธิ
  4. สมาบัติ – สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ
  5. ญาณ – วิชชา ๓
  6. มัคคภาวนา – สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
  7. การทำให้แจ้งซึ่งผล ได้แก่การทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล การทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล
  8. การละกิเลส – การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ
  9. ความเปิดจิต – ความเปิดจิตจากราคะ ความเปิดจิตจากโทสะ ความเปิดจิตจากโมหะ
  10. ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า – ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า ด้วยปฐมฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยทุติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า ด้วยตติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยจตุตถฌาน

รายละเอียดของแต่ละข้อ ถ้าสงสัยก็ลองไปค้นดูเองนะครับ ^ ^ เล่าแล้วเดี๋ยวยาว แถมบางอันผมก็ไม่รุ้เหมือนกันว่าคืออะไร

ทีนี้ถ้าพระเข้าใจผิด คิดว่า ตัวเองได้คุณวิเศษนั้นๆ พระไม่ผิดครับ

นอกจากนี้ยังมีอาบัติข้อๆอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ครับคือ

  • ถ้าพระอวดคุณวิเศษ ที่“มี”ในตน ให้“พระ”ด้วยกันฟัง พระไม่อาบัติ
  • ถ้าพระอวดคุณวิเศษ ที่“มี”ในตน ให้“ชาวบ้าน”ฟัง พระอาบัติข้อย่อยๆ

******************************************

จบแล้วครับ ผมเล่าแต่หลักๆ ไม่ได้เล่าทั้งหมดไม่งั้นมันจะกลายเป็นบทความสำหรับพระไป ส่วนบทความนี้ ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ช่วยแนะนำด้วยนะครับ

จริงๆแล้วถ้าสังเกตุให้ดีปาราชิกทุกข้อ ก็จะดูที่เจตนาเป็นหลักครับ ว่ามีเจตนาจะทำมั้ย

ใครอยากอ่านแบบละเอีียดๆ ก็เข้าไปอ่านได้ในเวปนี้ครับ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=0&Z=164&pagebreak=0

ที่มาของรูปครับ http://bookstore.tu.ac.th/bookpresen/pnewbooks.html

 
7 Comments

Posted by on May 25, 2011 in ธรรมะ

 

Tags: , , , ,

7 responses to “ปาราชิก คืออะไร?

  1. เก๋

    May 25, 2011 at 22:16

    พระพุทธเจ้าท่านรอบคอบจริงๆ ครับ แค่เรื่องปราชิกข้อแรกนี่ละเอียดคลอบคลุมแบบไม่ต้องมีเรื่องให้สงสัยเลย (อ่านดูพบว่าวิธีเดียวที่พระจะเสพเมถุนกับผู้อื่นโดยเจตนาโดยไม่ปราชิก คือ เสพกับศพผู้ตายแล้วและถูกสัตว์กัดโดยมาก ^^”)

    อนุโมทนาครับ

     
  2. Trang Suwannasilp

    May 25, 2011 at 22:48

    ใช่เลยครับ พระพุทธเจ้าท่านรอบคอบมากๆ และ ที่สำคัญคือ พอลองได้อ่านพระวินัยแบบละเอียดๆแล้ว ท่านไม่ได้ยึดติดกันศีลหรือการกระทำเลยครับ ท่านดูที่เจตนา และ ท่านก็ยุติธรรมกับทุกๆคนมากๆด้วย

    ข้อดีอีกอย่างของการไปนั่งอ่านพระวินัยของสงฆ์ที่ คือ ทำให้เราเข้าใจศีลได้ดีขึ้นครับ มุมมองต่อศีลเนี่ย ชัดเจนขึ้นมาก อันนี้ผมไม่คิดว่าจะได้เลย ตอนแรกกะว่าจะอ่านเอาสนุกเฉยๆ ^ ^

     
  3. Trang Suwannasilp

    May 25, 2011 at 22:50

    อย่างเช่นที่ว่า พระฉันอาหารที่มีเหล้าผสมอยู่ พระไม่ถือว่าอาบัติ … อันนี้ผมอ่านแล้วกระจ่างเลยครับ เพราะว่า บางทีผมก็กังวลว่า อาหารที่กินจะมีเหล้ามั้ย

    มีเรื่องแบบนี้อีกเยอะเลยครับ ผมชอบมาก …. ช่วยให้เราใช้ชีวิตไ้ด้เคลียร์ขึ้น

     
  4. PhaAkkaratape

    December 12, 2012 at 10:47

    มีประโยชน์อย่างมากๆๆเลยครับ ขอบคุณจากใจจริงเลยครับ เพราะปกติถ้าอ่านแบบทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเข้าใจเพราะเป็นภาษาที่อ่านยาก

     
  5. Anonymous

    July 19, 2013 at 10:19

    สาธุ…..

     
  6. มีนา สุริยเสรี

    September 25, 2015 at 08:03

    สาธุค่ะ

     
  7. BOUATONG TUI

    January 3, 2020 at 11:26

    ในสิกขาบทพระปาติโมกข์ ปาราชิก 4 เป็นเรื่องไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งในพระภิกษุสงฆ์ วินัยข้อนี้เป็นสิ่งที่
    ค่อนข้างรุนแรงที่สุดในวินัยหลายข้อ พระภิกษุสงฆ์
    และสามมเณรแม่ชีก็ไม่ควรจะกระทำเรื่องอย่างนี้ให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ทำให้เสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงตัวเองเป็นอย่างยิ่ง

     

Leave a comment