RSS

Tag Archives: โยนิโสมนสิการ

พุทธศาสนาก็สอนเรื่องการสร้าง Motivation

วันก่อน ผมค้นๆเนตหาข้อมูลเรื่อง การสร้าง Motivation ครับ ค้นไปค้นมาก็สงสัยว่า พุทธเรามีสอนเรื่องการสร้าง Motivation มั้ย?

ผมก็ไปพบว่า การมี Motivation เนี่ย มันไปตรงกับหลักธรรมที่ชื่อว่า “ฉันทะ” แต่ทีนี้เราจะสร้างฉันทะยังไง? พุทธเรามีสอนไว้บ้างมั้ย?

ผมก็บังเอิญไปเจอว่า มีครับคือ “มูลเหตุของฉันทะ คือ โยนิโสมนสิการ” (วิสุทธิ. ฏีกา. (บาลี) ๓/๑๑๐.)

แบบว่ากระจ่างเลยครับ โยนิโสมนสิการ คือ การใช้ความคิดถูกวิธี …. เมื่อเราคิดเป็น เราก็รู้ว่าเราควรทำอะไร ควรวางแผนอย่างไร ควรแก้ปัญหาอย่างไร เราจะไม่กังวล ไม่สับสน ไม่ท้อแท้ และ มีแรงใจทำงานไม่ต้องมานั่งเซ็งนั่งกลัวอยู่

ลองอ่านคำอธิบายของ  ฉันทะ และ โยนิโสมนสิการดูนะครับ ลึกซึ้งมากๆ

……………………………………………………………………………………………….

ฉันทะ – ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่สิ่งนั้นๆ, ความรักงาน (http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A9%D1%B9%B7%D0)

……………………………………………………………………………………………….

โยนิโสมนสิการ

ความหมายของโยนิโสมนสิการ

โยนิโส มาจาก โยนิ แปลว่า เหตุต้นเค้า แหล่งเกิดปัญญาอุบายวิธีทาง
มนสิการ แปลวา่ การทำในใจ การคิดคำนึง นึกถึง ใส่ใจ พิจารณา
โยนิโสมนสิการ แปลได้ว่า การทำในใจโดยแยบคาย

แต่ถ้าจะเอาคำแปลแบบยาวๆ ก็ตามนี้ครับ

โยนิโสมนสิการ – การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย – reasoned attention: systematic attention; analytical thinking; critical reflection; thinking in terms of specific conditionality; thinking by way of causal relations or by way of problem-solving) และเป็น ฝ่ายปัญญา (a factor belonging to the category of insight or wisdom) http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=2

ความสำคัญของโยนิโสมนสิการ

พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสยกย่องโยนิโสมนสิกการเยอะมากครับ เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเหล่าหน่ึงเหล่าใดก็ตามที่เป็นกุศล อยู่ในภาคกุศล อยู่ในฝ่ายกุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีโยนิโสมนสิการเป็นมูลราก ประชุมลงในโยนิโสมนสิการ, โยนิโสมนสิการ เรียกว่าเป็นยอดของธรรม เหล่านั้น”

“โดยกำหนดว่าเป็นองค์ประกอบภายใน เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”

องค์ประกอบของโยนิโสมนสิการ

ลักษณะการคิดแบบโยนิโสมนสิการมี 10 ประการ สรุปได้ดังนี้ครับ

  1. สืบสาวเหตุปัจจัย
  2. แยกแยะส่วนประกอบ
  3. สามัญลักษณะ – มองเห็นลักษณะพื้นฐานร่วมกันของสิ่งต่างๆ
  4. อริยสัจจ์ – คิดแยกแยะ แก้ปัญหา
  5. อรรถธรรมสัมพันธ์ – เข้าใจว่าหลักการ (ธรรม) นี้ มีจุดมุ่งหมายอะไร (อรรถ)
  6. เห็นคุณ โทษ ทางออก
  7. รู้คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม – รู้คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนี้ รู้คุณค่าที่เสริมขึ้นมา
  8. เร้่าคุณธรรม
  9. อยู่กับปัจจุบัน
  10. วิภัชชวาท – คิดจำแนกแยกแยะให้ครบถ้วนทุกแง่มุม ทุกขั้นตอน ทุกทางเลือก
เนื้อหาของโยนิโสมนสิการนี้ ผมได้มาจากหนังสือของทางพระพรหมคุณาภรณ์ครับ ท่านสอนไว้ได้ละเอียดละออ เข้าใจง่าย แถมมีตัวอย่างด้วย

ลองโหลดไฟล์ไปอ่านกันดูนะครับ เพราะถ้าจะให้เอามาลง Blog มันก็จะยืดยาวเกินไป

Download >>> โยนิโสมนสิการ <<<

……………………………………………………………………………………………….

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์
[๐๘] ถามว่า โยนิโสมนสิการและปัญญา มีลักษณะอย่างไร

 
Leave a comment

Posted by on April 25, 2012 in ธรรมะ

 

Tags: , ,

กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์

เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระอานนท์ท่านปลีกวิเวกเพื่อไปเจริญความเพียร ระหว่างที่ปลีกวิเวกนั้นท่านคิดขึ้นมาได้ว่า กัลยาณมิตรนี้คือครึ่งหน่ืงของพรหมจรรย์ แต่ท่านไม่แน่ใจในความคิดของท่าน เมื่อออกจากการปลีกวิเวกท่านจึงได้มาถามปัญหาข้อนี้แก่พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าท่านตอบว่า “ดูกรอานนท์ ความมีกัลยาณมิตร… เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่าผู้มีกัลยาณมิตร…พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เขาจักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอริยอัษฏางคิกมรรค”

*************************************

ขยายความจากพระไตรปิฏก

ผมได้ไปเปิดหนังสือดูสองเล่ม เพื่ออ่านเรื่องกัลยามิตร หนังสือที่ได้ไปค้นมามี
-พุทธธรรม (ฉบับปรับปรุงและขยายความ) โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
-พจนานุกรพุทศาสตร์ (ฉบับประมวลธรรม) โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
-พระไตรปิฏกฉบับประชาชน โดย อ. สุชีพ ปุญญานุภาพ
ได้ความมาดังนี้ครับ

กัลยามิตรแปลว่าอะไร?

 

จากหนังสือ พุทธรรม ท่าน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ครับ

กัลยามิตร – มิได้หมายถึงเพื่อนที่ดีอย่างในความหมายสามัญเท่านั้น แต่หมายถึงบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่จะสั่งสอน แนะนำ ชี้แจง ชักจูง ช่วยบอกช่องทาง หรือเป็นตัวอย่างให้ผุ้อื่นดำเนินไปในมรรคาแห่งการฝึกฝนอบรมอย่างถูกต้อง

การประพฤติพรหมจรรย์นั้น – การประพฤติดังพรหม คือเว้นการเสพกาม ซึ่งอธิบายว่า ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘

กัลยามิตรสำคัญอย่างไร

ในพระไตรปิฏกได้กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฐิมี ๒ ประการ คือ

๑ ปรโตโฆสะ – เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียน หาความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับสัทธรรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร

๒ โยนิโสมนสิการ – ความใช้ความคิดเห็นถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือ ทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

ม.นู.12/497/539;องฺทุกฺ 20/371/110

นอกจากนี้ยังมีพุทธพจน์อื่นอีกว่าด้วยกัลยาณมิตรคือ

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยามิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฏางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”

“ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับเป็ฯพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอัษฎางคิกมรรค”

“อาศัยเราผู้เป็นกัลยามิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส”

“เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม่้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะเหมือนความมีกัลยามิตร, ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”

“ความมีกัลยามิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

สํ.ม.19/5-129/2-36; องฺ.เอก.20/72-128/16-25; ขุ.อิติ.25/195/237

เราจะเห็นจะเห็นได้ว่ากัลยามิตรนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียวสำหรับการปฏิบัติ เพราะคือปัจจัยภายนอกที่ช่วยเหลือเราชักจูงเรา ชี้จุดผิดพลาดให้เราในยามที่เราผิดทาง

ถ้าปราศจากกัลยามิตรคอยชี้แนะแล้ว ยากที่เราเหล่าสาวกภูมิจะเห็นจุดที่ตนเองติดขัด

ผมเคยได้มีโอกาสถามครูบาอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่ง ผมได้ถามท่านไปว่า เวลาเราปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าเราบังเอิญไปติดอะไรเข้า ทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เราจะมีวิธีตรวจสอบตัวเองอย่างไรว่าเรากำลังติดอะไรอยู่ หลวงพ่อท่านได้เมตตาตอบผมว่า ต้องพึ่งผู้รู้เท่านั้น ให้ผู้รู้ช่วยชี้แนะให้ (อันนี้ผมเชียนจากความทรงจำนะครับ อาจจะไม่ถูกต้องเป็นเนื้อความทั้งหมด ก็ขออภัยด้วย แต่เนื้อหาประมาณนี้ไม่ตกหล่น)

*************************************

กัลยาณมิตรสมัยพุทธกาล

ไปเจอเรื่องราวดีๆของกัลยาณมิตรสมัยพุทธกาลมาจากลิ้งนี้ครับ เลยมาแชร์ต่อ เพราะเห็นว่าเข้ากันได้ดีกับเนื้อเรื่องนี้

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=thammakittakon&date=02-08-2009&group=1&gblog=6

กัลยาณมิตร มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดังเช่นในอดีตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเกิดมาแล้วเป็นผู้มีความเห็นผิด จนเกือบจะไม่ได้พบกับหนทางของพระนิพพาน แต่เนื่องจากพระองค์ได้คบหากับบุคคลอันเป็นกัลยาณมิตร พระองค์จึงได้ก้าวเข้ามาสู่หนทางของการสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้

พระองค์ทรงระลึกชาติในหนหลัง ตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังว่า ในสมัยนั้นเป็นสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ณ ตำบล บ้านเวภฬิคะ มีชายหนุ่ม ๒ คนเป็นเพื่อนรักกัน คนหนึ่ง ชื่อ ฆฏิการะ อีกคนหนึ่ง ชื่อ โชติปาละ ทั้งสองคนนี้แม้จะเป็นเพื่อนที่รักกันมาก แต่กลับมีอุปนิสัยในทางธรรมที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

ฆฏิการะนั้นเป็นผู้ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก เขาได้ชื่อว่าเป็นอุปัฏฐากที่ดีเลิศของพระพุทธเจ้ากัสสปะ แต่โชติปาละเป็นผู้ที่ไม่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเลย เขาไม่เคยไปฟังธรรม ไม่เคยแม้แต่จะไปกราบพระพุทธเจ้า ฆฏิการะก็พยายามชักชวนอยู่เสมอ แม้ว่าความปรารถนาดีของเขาจะถูกปฏิเสธเสียทุกครั้งไป

จนกระทั่งวันหนึ่ง ฆฏิการะจึงออกอุบายชวนโชติปาละไปอาบน้ำยังท่าน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้กับพระอารามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พออาบน้ำชำระกายเป็นที่เย็นกายเย็นใจแล้ว ฆฏิการะก็กล่าวชวนโชติปาละว่า “โชติปาละไปเถอะ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากัน พระอารามของพระองค์ท่านอยู่ที่ตรงนี้เอง” โชติปาละกล่าวตอบว่า “อย่าเลย เราไม่เห็นประโยชน์อะไรกับการที่จะได้เห็นสมณะโล้น สู้ไปเที่ยวยังจะสนุกเสียกว่า” ฆฏิการะก็บอกว่า “มีประโยชน์สิ เพราะการเห็นสมณะนั้นเป็นมงคล ไปกันเถอะ” โชติปาละก็ปฏิเสธอีก ฆฏิการะจึงเดินเข้าไปจับมือของโชติปาละ โชติปาละสะบัดมือออก ฆฏิการะเปลี่ยนมาจับชายพกของโชติปาละ โชติปาละก็ดึงมือออกอีก ฆฏิการะไม่ละความพยายามหันมาดึงมวยผม พร้อมกับกล่าวชวนซ้ำอีก คราวนี้โชติปาละรู้สึกขัดใจขึ้นมาทันที
“เอ๊ะ! ทำไมต้องมาดึงมวยผมกันด้วยละ สมณะโล้นน่ะ มีดีอย่างไรหรือ ท่านจึงอยากให้ข้าพเจ้าไปเฝ้านัก”

และ ด้วยอานุภาพแห่งกัลยาณมิตร โชติปาละก็รำลึกได้ว่า โดยปกติแล้ว ฆฏิการะเป็นเพื่อนที่หวังดีกับเขาเสมอมา ไม่เคยเลยที่จะชักนำไปในทางที่เสียหาย เขาเริ่มคิดได้ว่า การที่ฆฏิการะชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอนี้ ก็คงจะเป็นการชักนำไปในทางที่ดีอีกเช่นเคย ดังนั้นโชติปาละจึงยอมไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

เมื่อไปถึงพระอาราม ทั้งสองกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็นั่งในที่อันควรข้างหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงปฏิสันถารด้วยพระทัยที่เปี่ยมด้วยความเมตตา แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาด้วยกระแสเสียงอันไพเราะ แสดงธรรมที่ไพเราะทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย หลั่งธรรมธาราให้รินไหลเข้าสู่กระแสใจของโชติปาละ โชติปาละได้ฟังธรรมแล้ว ใจของเขาก็ผ่องใส เหมือนคนที่เดินหลงทางอยู่ในทะเลทรายมาเป็นเวลานาน แล้วได้พบกับบ่อน้ำที่ให้ทั้งความเย็นกายเย็นใจ ใจของเขาดื่มด่ำในรสแห่งอมตธรรมยิ่งนัก แล้วด้วยใจที่ศรัทธาตั้งมั่นไม่คลอนแคลน โชติปาละจึงขอออกบวชอุทิศตนเป็นพุทธบูชาตลอดชีวิต

แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงกล่าวกับพระอานนท์สืบไปว่า ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้พึงคิดเลยว่าเราคือ ฆฏิการะ บุรุษผู้มีความเห็นถูก แต่แท้ที่จริงแล้วเราคือ โชติปาละ บุรุษผู้มีความเห็นผิดคนนั้น แต่เนื่องจากเราได้คบหากับบุคคลอันเป็นยอดกัลยาณมิตร คือ ฆฏิการะ เราจึงได้กลับมาเป็นผู้มีความเห็นถูก ก้าวเข้ามาสู่หนทางแห่งการสร้างความดี มาสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ในที่สุด

อานนท์ แม้เราตถาคตก็ยังต้องการกัลยาณมิตร เป็นผู้ชี้หนทางแห่งความดีให้ ดังนั้น เราจึงได้กล่าวกับเธอว่า “กัลยาณมิตรนั้นเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์”

หมายเหตุ
ฆฏิการะในกาลนั้น ได้ไปบังเกิดเป็น ท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งเป็นผู้ลงมาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง.

*************************************

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

[ภาพ 32] กลับมาประทับโคนต้นไทร ท้อพระทัยในอันโปรดสัตว์ สหัมบดีพรหมต้องทูลวิงวอน

พุทธศาสนาก็สอนเรื่องการสร้าง Motivation

[๐๘] ถามว่า โยนิโสมนสิการและปัญญา มีลักษณะอย่างไร

 
1 Comment

Posted by on December 1, 2009 in ชาดก, ธรรมะ

 

Tags: , , , , , , , , ,