RSS

Tag Archives: สังคหวัตถุ

“ปรองดอง”ตามหลักพุทธศาสนา

ช่วงนี้บ้านเราน้ำท่วมครับ จริงๆก็ท่วมมานานแล้วนะครับ แต่ว่าเริ่มเป็นกระแสข่าวหนักๆขึ้นมาตอนน้ำเิริ่มใกล้กทม แต่ว่า น้ำท่วมทั้งที แทนที่คนไทยจะหันหน้ามารักกัน เราก็เห้นว่า พวกเรายังคงทะเลาะกันเรื่องสีเสื้อได้อยู่ดี

ผมก็เลยสงสัยว่า ในพระไตรปิฏกของเราเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านสอนเกี่ยวกะเรื่องควาามสามัคคีไว้อย่างไรบ้าง … ก็ได้ลองมาค้นๆดูครับ … ลองอ่านกันดูนะครับ

***************************************************

สามัคคีคืออะไร ?

ตามพจนานุกรมแล้ว ความสามัคคีแปลว่า เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน, เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน, พร้อมเพรียงกัน ถ้าภาษาอังกฤษ ก็จะใช้คำว่า Unity หรือ Harmony ครับ

ส่วนธรรมะที่เกี่ยวเนื่องด้วยความสามัคคี ก็มีดังนี้ครับ

  • สังคหวัตถุ 4 ………. ได้แก่ ทาน, วาจาสุภาพ, ช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ และ มีตนเสมอต้นเสมอปลาย
  • สารณียธรรม 6 …… มีเมตตาทั้งทางกาย วาจา ใจ, แบ่งปันให้กัน, มีศีลบริสุทธ์ และ มีทิฐิที่ดีงาม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีทั้งต่อหน้า และ ลับหลัง
  • อปริหานิยธรรม 7 .. ให้พร้อมเพียงกันประชุม, รักษากฏระเบียบไว้, เคารพซึ่งกันและกัน (ทั้งต่อผู้อาวุโส สตรี สถานที่สำคัญ และ นักบวช)
  • สังฆสามัคคี ………. พระจะสามัคคีได้ถ้า รักษาคำสอนและพระวินัยไว้ได้ให้บริสุทธิ์

สังคหวัตุ กับ สารณียธรรม เนี่ยก็จะออกไปทางความสำพันธ์กันของระหว่างบุคคล มีหลักการแล้วคล้ายกัน แต่สารณียธรรมนั้นได้เพิ่มตรง ศีล และ ทิฐิเข้ามาด้วย

อปริหานิยธรรม กับ สังฆสามัคคี ก็จะออกไปทาง หลักการของ ความสามัคคีสำหรับ หมู่คณะ องค์กร หรือ ประเทศชาติ ครับ

ผมอาจจะจับคู่ผิดก็ได้นะครับ เรื่องจับคู่นี้อย่าเชื่อผมนะครับ

***************************************************

ข้อสังเกตุส่วนตัว – การทำสิ่งที่ผิดให้เป็นเรื่องถูกต้อง เป็นสาเหตุของการแตกสามัคคี

ที่นี้เกี่ยวกับ อปริหานิยธรรม และ สังฆสามัคคี ครับ ระหว่างที่ผมค้นๆข้อมูลมาเขียนเนี่ย ผมสังเกตุได้อย่างนึงครับ คือ

ผมว่ามีความเหมือนกันอยู่อย่างนึงของทั้งสองธรรมะ นั่นคือ การไม่สร้างหลักการใหม่ให้ขัดต่อหลักการเดิม ไม่ล้มล้างหลักการเดิม และให้ทำตามหลักการตามเดิมที่ดีอยู่แล้ว

(ลองไปอ่านเต็มๆด้านละนะครับ จะเห็นได้ชัดเลยทีเดียว)

การที่สังคมจะปรองดองกันได้จริงๆ สิ่งที่ถูกก็ต้องรักษาไว้ให้มันถูก เมื่อใดที่สิ่งผิดกลายเป็นเรื่องถูก เมื่อนั้นสังคมมีปัญหาแน่ครับ

อันนี้ผมว่าน่าสนใจนะ และ ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้เลยหล่ะว่า องค์กร หรือ ประเทศ มันจะทะเลาะกันได้ และ ล่มสลายได้จริงๆ ถ้าเราไปทำสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก ….. สิ่งใดเป็นกฏ เป็นหลักการที่ถูกต้อง เราก็ควรจะต้องรักษาไว้ อย่าไปเปลี่ยน ไปปรับแก้ตามใจ

***************************************************

สังคหวัตถุ 4

สังคหวัตถุ 4 แปลว่า ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี, หลักการสงเคราะห์

  1. ทาน แปลว่า การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน
  2. ปิยวาจา แปลว่า วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม
  3. อัตถจริยา แปลว่า การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม
  4. สมานัตตตา แปลว่า ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี

***************************************************

สารณียธรรม 6

สารณียธรรม 6 แปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุที่ระลึกถึงกัน, หลักการอยู่ร่วมกัน

  1. เมตตากายกรรม แปลว่า ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมคณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
  2. เมตตาวจีกรรม แปลว่า ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
  3. เมตตามโนกรรม แปลว่า ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน
  4. สาธารณโภคี แปลว่า ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน
  5. สีลสามัญญตา แปลว่า มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ
  6. ทิฏฐิสามัญญตา แปลว่า มีทิฏฐิดีงามเสมอกันเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา

ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ

  • เป็น สารณียะ – ทำให้เป็นที่ระลึกถึง
  • เป็น ปิยกรณ์ – ทำให้เป็นที่รัก
  • เป็น ครุกรณ์ – ทำให้เป็นที่เคารพ
  • เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ – ความกลมกลืนเข้าหากัน
  • เพื่อ ความไม่วิวาท
  • เพื่อ ความสามัคคี
  • เอกีภาพ – ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

***************************************************

อปริหานิยธรรม 7

อปริหานิยธรรม 7 เป็นหลักธรรมที่กษัตริย์วัชชี ถือรักษาไว้ครับ แปลว่า ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง

  1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
  2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ (ข้อนี้แปลอีกอย่างหนึ่งว่า : พร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง พร้อมเพรียงกันทำกิจทั้งหลาย)
  3. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม
  4. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง
  5. บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ
  6. เคารพสักการะบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่างๆ) ของวัชชี (ประจำชาติ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป
  7. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย (ในที่นี้กินความกว้าง หมายถึงบรรพชิตผู้ดำรงธรรมเป็นหลักใจของประชาชนทั่วไป) ตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก

อปริหานิยธรรม 7 ประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่เจ้าวัชชีทั้งหลายผู้ปกครองรัฐโดยระบอบสามัคคธรรม (republic) ซึ่งรัฐคู่อริยอมรับว่า เมื่อชาววัชชียังปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ จะเอาชนะด้วยการรบไม่ได้ นอกจากจะใช้การเกลี้ยกล่อมหรือยุแยกให้แตกสามัคคี

เรื่องอปริหานิยธรรม 7 ของกษัตริย์วัชชีนี้สนุกนะครับ มีเรื่องราวมากมายเลยครับ ลองอ่านได้ที่ลิ้งนี้ครับ http://wp.me/pJ15h-iL

***************************************************

สังฆสามัคคี

สังฆสามัคคี แปลว่า ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์

พระอุบาลีท่านเคยถามพระพุทธเจ้าไว้ครับว่า “ด้วยเหตุใดสงฆ์จึงพร้อมเพรียงกัน” พระพุทธเจ้าท่านตอบไว้ดังนี้ครับ “ดูกรอุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้”

  1. ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรมว่า ไม่เป็นธรรม
  2. ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่า เป็นธรรม
  3. ย่อมแสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า มิใช่วินัย
  4. ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่า เป็นวินัย
  5. ย่อมแสดงคำอันตถาคตมิได้ตรัสภาษิตไว้ว่า เป็นคำอันตถาคตมิได้ตรัสภาษิตไว้
  6. ย่อมแสดงคำอันตถาคต ตรัสภาษิตไว้ว่า เป็นคำอันตถาคตตรัสภาษิตไว้
  7. ย่อมแสดงกรรมอันตถาคตมิได้ประพฤติมาว่า เป็นกรรมอันตถาคตมิได้ประพฤติมา
  8. ย่อมแสดงกรรมอันตถาคตประพฤติมาแล้วว่า เป็นกรรมอันตถาคตประพฤติมาแล้ว
  9. ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคต มิได้บัญญัติไว้ว่า เป็นสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้
  10. ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า เป็นสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้
  11. ย่อมแสดงอนาบัติว่า เป็นอนาบัติ
  12. ย่อมแสดงอาบัติว่า เป็นอาบัติ
  13. ย่อมแสดงอาบัติเบาว่า เป็นอาบัติเบา
  14. ย่อมแสดงอาบัติหนักว่า เป็นอาบัติหนัก
  15. ย่อมแสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่า เป็นอาบัติมีส่วนเหลือ
  16. ย่อมแสดงอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ว่า เป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้
  17. ย่อมแสดงอาบัติชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติชั่วหยาบ
  18. ย่อมแสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ

พวกเธอย่อมไม่ประกาศให้แตกแยกกันด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้ ย่อมไม่แยกทำอุโบสถ ย่อมไม่แยกทำปวารณา ย่อมไม่แยกทำสังฆกรรม ดูกรอุบาลี ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล สงฆ์เป็นอันพร้อมเพรียงกัน ฯ”

(เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗  บรรทัดที่ ๔๑๔๑ – ๔๑๗๔.  หน้าที่  ๑๗๒ – ๑๗๓.)

***************************************************


 
3 Comments

Posted by on October 26, 2011 in ธรรมะ

 

Tags: , , , , , , , , ,