[ภาพที่ ๗๓] เสด็จถึงสาลวันกรุงกุสินารา โปรดให้พระอานนท์จัดท่่ีบรรทม ระหว่างไม้รังทั้งคู่
พระพุทธเจ้าพร้อมกับพระสงฆ์บริวาร เสด็จไปถึงชานเมืองกุสินาราในเวลาจวนค่ำ เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญวดี แล้วเสด็จไปในอุทยานนอกเมืองนั้น ที่มีชื่อว่า “สาลวโนทยาน”
เมืองต่าง ๆ ในสมัยพระพุทธเจ้า ส่วนมากมีอุทยานเหมือนสวนสาธารณะอย่างทุกวันนี้ สำหรับประชาชนในเมือง และชนชั้นปกครอง ได้อาศัยเป็นที่พักผ่อนกันทั้งนั้น กรุงราชคฤห์ ก็มีอุทยาน ชื่อ “ลัฏฐิวัน” ที่เรียกว่า สวนตาลหนุ่ม กบิลพัสดุ์ เมืองประสูติของพระพุทธเจ้าก็มี “ลุมพินีวัน” กุสินารา จึงมี “สาลวโนทยาน” ดังกล่าว
สาลวโนทยาน อยู่นอกเมืองกุสินารา มีต้นไม้ใหญ่ ๒ ต้น เคียงคู่กันอยู่ เรียกว่า “ต้นสาละ” อุทยานแห่งนี้จึงได้นามตามต้นสาละว่า สาลวโนทยาน ดังกล่าว
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงอุทยานแห่งนี้แล้ว ตรัสสั่งให้พระอานนท์ตั้งเตียง หันทางเบื้องศีรษะไปทางทิศเหนือ ให้เตียงอยู่ระหว่างใต้ต้นสาละทั้งคู่ ตรัสว่า “เราลำบากและเหน็ดเหนื่อยมาก จักนอนระงับความลำบากนั้น”
พระอานนท์จัดตั้งเตียงและปูผ้ารองเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จบรรทมตะแคงข้างขวา หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ตั้งพระบาทซ้อนเหลื่อมกัน ดำรงสติสัมปชัญญะ แล้วตั้งพระทัยจะเสด็จบรรทมเป็นไสยาวสาน (นอนเป็นครั้งสุดท้าย) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อนุฐานไสยา” แปลว่า “นอนโดยจะไม่ลุกขึ้นอีก”
ปฐมสมโพธิว่า “ในขณะนั้นเอง มิใช่ฤดูกาลจะออกดอกเลย แต่ต้นสาละทั้งคู่ ก็ผลิดอกออกบานตั้งแต่โคนรากเบื้องต้นถึงยอด และทั่วทุกกิ่งสาขาก็ดาดาด (พจนานุกรมราชบัณฑิตสถานใช้ ดารดาษ หรือ ดาษดา) ด้วยดอกแลสะพรั่ง แล้วดอกสาละนั้น ก็ร่วงหล่นลงบูชาพระพุทธเจ้า ดอกมณฑารพ ดอกไม้ทิพย์ของสวรรค์ ตลอดถึงจุณจันทน์สุคนธชาติของทิพย์ ก็โปรยปรายลงจากอากาศ ดนตรีสวรรค์ก็บันลือประโคม เป็นมหานฤนาทโกลาหล เพื่อจะบูชาพระพุทธเจ้าในกาลอันเป็นอวสานของพระองค์”